เลือกตั้งและการเมือง

คณะกรรมการสมานฉันท์ เริ่มเป็นรูปร่าง - สถาบันพระปกเกล้า เสนอ 2 รูปแบบ หาทางออกประเทศ

โดย

2 พ.ย. 2563

1.2K views

ประธานรัฐสภา เตรียมหารือผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมือง ในวันพรุ่งนี้เพื่อเชิญเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งมีโครงสร้าง 2 รูปแบบ ที่จะหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด ขณะที่นักวิชาการ เห็นว่าทางออกที่เป็นไปได้ต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของผู้ชุมนุม 
โครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา หารือกับ สถาบันพระปกเกล้า มี 2 รูปแบบ แบบแรก ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอกรรมการมาจาก 7 ฝ่าย ทั้งที่มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งจากคณะรัฐมนตรี ส.ส.รัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน วุฒิสภา และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งหากขาดกลุ่มใดกลุ่มหนี่ง ก็จะทำให้องค์ประชุมไม่ครบ หรือลดเหลือ 5 ฝ่าย โดยลดตัวแทนผู้ชุมนุม และผู้เห็นต่าง เพื่อลดการเผชิญหน้า
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ การมีคนกลางตามที่แต่ละฝ่ายเสนอให้เป็นกรรมการ โดยการเสนอจากทุกฝ่าย หรือ ให้ประธานรัฐสภา ไปสรรหาบุคคล หรือ ประธานรัฐสภาตั้งประธานคณะกรรมการ และให้ประธานกรรมการไปคัดเลือกบุคคลคัดเลือก
โดยประธานรัฐสภา จะนำทั้ง 2 รูปแบบ ไปพิจารณา ซึ่งอาจให้มีการผสมทั้งสองแบบได้ ซึ่งนายชวน เปิดเผยด้วยว่า ได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรี 3 ท่าน เพื่อให้ช่วยมาให้ความเห็นส่วนหนึ่ง และจะเชิญอดีตประธานรัฐสภามาร่วมด้วย 
ส่วนเรื่องการชุมนุมที่รัฐบาลดูแลอยู่แล้วนั้น หากมีส่วนที่สภา สามารถไปช่วยบรรเทาได้ ก็พร้อมดำเนินการ โดยให้สถาบันพระปกเกล้า เชิญบุคคลที่ผ่านหลักสูตรการปรองดองในสังคม มาพูดคุยเพื่อลดความขัดแย้งรุนแรง การคุกคาม เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง เช่น นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยถึงทัศนะคติของนักศึกษา 
สำหรับในวันพรุ่งนี้ นายชวน จะหารือ กับผู้นำฝ่ายค้านฯ และตัวแทนรัฐบาลเป็นการภายใน ส่วนกรอบการพูดคุย จะเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ แต่ไม่อยากให้นำประเด็นการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ามาเป็นเงื่อนไข เพราะตามรัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ 
การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ยังมีความเห็นจากหลายฝ่าย เช่น รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่าในอดีตมีการตั้งคณะกรรมการแบบนี้มาหลายชุดแต่ไม่ประสปความสำเร็จ ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วย หากไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้จริง แต่หากจะทำคู่ขนานเพื่อรับฟังความเห็นก็ทำได้ หากไม่ใช้งบประมาณมากเกินไป ซึ่งทางออกที่เป็นไปได้ ควรพิจารณาจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ซึ่งการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้เลือกจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่ หากเลือกไม่ได้ มาตรา 272 ก็เปิดทางให้รัฐสภาเสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีได้ ซึ่งเสียงเกินครึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่ต้องให้ได้เกิน 366 เสียงก็ยังเป็นไปได้ หากส.ส.พร้อมใจกัน โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจถอนตัวมาเพื่อช่วยปลดล็อคทางการเมือง
ส่วนข้อที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คาดว่ารัฐสภาจะนำรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนมาพิจารณาด้วย และหากจะมีการแก้ไขมาตรา 256 ต้องทำประชามติ รศ.ดร.สิริพรรณ เห็นว่ารัฐสภา ต้องเร่งเสนอพระราชบัญญัติประชามติ เพื่อให้สามารถเปิดลงประชามติให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจใช้วันเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 22 ธันวาคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรี อาจประกาศไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมองเห็นทางออกมากกว่าทางตัน สำหรับข้อเสนอที่ 3 เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ สามารถให้พูดคุยกันได้ผ่านกลไก ส.ส.ร.และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดการพูดคุยตามแนวทางสันติวิธี

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ