เศรษฐกิจ

เปิดปมสหรัฐฯตัดสิทธิ์ GSP ไทย เหตุไม่พอใจห้ามนำเข้าหมูเร่งเนื้อแดง

โดย

31 ต.ค. 2563

1.6K views

กระทรวงพาณิชย์ เผยสหรัฐฯ ตัดสิทธิฯ GSP สินค้าไทย เพิ่มเติม 231 รายการ มาจากสาเหตุที่ไทยไม่เปิดตลาดเนื้อสุกรของสหรัฐฯ ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง 
โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา ประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพิ่มเติมครั้งล่าสุดนี้คิดเป็นมูลค่าราว 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 2 หมื่น 5 พัน 4 ร้อยล้านบาท ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคมนี้ 
โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์, ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์, อาหารแห้ง, ไปจนถึงเครื่องมือและเครื่องครัวอะลูมิเนียม 
โดยข้อความของประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่าไทยยังไม่เปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดอย่างเท่าเทียมและเหมาะสม ซึ่งจากการเจรจาทางการค้าร่วมกันนานกว่า 2 ปี พบว่ารัฐบาลไทยยังไม่ให้ความยุติธรรมกับสินค้าของสหรัฐฯ ที่ส่งออกมายังไทย อีกทั้ง รัฐบาลไทยยังไม่สามารถจัดการเรื่องสิทธิแรงงานได้ดีพอ หลายฝ่ายคาดว่าอีกหนึ่งเหตุผล มาจากการที่ไทยปฏิเสธเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในจากสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำเนียบขาวเพิ่งจะยกเลิกสิทธิ GSP สินค้าไทยมูลค่ากว่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท
ทางด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเด็นมาจากไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์จากสหรัฐที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง และมีผลตั้งแต่ 30 ธันวาคมนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน 
การตัดสิทธิฯ ดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 62 จำนวน 147 รายการ ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการในการประสานกับสหรัฐฯ ซึ่ง สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว เบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย เช่น Online Business Matching การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ