เลือกตั้งและการเมือง

ปิดแล้ว 'กอร.ฉ' หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงท้องที่ กทม. - ตร.ไม่หวั่น ชี้ยังมีกฎหมายอื่นควบคุม

โดย

23 ต.ค. 2563

824 views

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาระบุดังนี้
ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 เพื่อใช้มาตรการเร่งด่วน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เข้าระงับยับยั้งการกระทำอันกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ควบคุมและแก้ไขความปั่นป่วนวุ่นวายซึ่งนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง จนถึงวันที่ 13 พ.ย. 2563 นั้น
โดยที่ปรากฏว่า ปัจจุบันเหตุการณ์ร้ายแรงอันเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้คลี่คลายความรุนแรงและยุติลง อยู่ในภาวะที่เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการบังคับใช้มาตรการตามที่กำหนดในกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตามปกติแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคสาม และมาตรา 11 วรรคสาม แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563
ข้อ 2 บรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่ง ที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเนื่องจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2563 เวลา 12.00 น. เป็นต้นไป.
พลตำรวจตรียิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุ หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้อง กองอำนวยการร่วมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง หรือ กอร.ฉ. ที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งดังกล่าว ก็จำเป็นต้องยุติการทำหน้าที่ด้วยเช่นกัน แต่จะปรับไปเป็นรูปแบบอื่น 
ซึ่งการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ประเมินสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่า สถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ ตำรวจจะกลับไปใช้กฎหมายปกติดูแลการชุมนุม เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ / พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 / พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอาญาทั่วไป ส่วนภาพรวมการชุมนุมในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ้านมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี ระบุเตรียมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กทม ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายความมั่นคง ซึ่งไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมครม. และเป็นคนละเรื่องกับการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 
ทั้งนี้การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กทม.นั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือในที่ประชุมครม.ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่า ถ้าจำเป็นต้องยกเลิก มีข้อกำหนดไว้ตามมาตรา 11 วรรคสุดท้ายให้อำนาจนายกรัฐมนตรีไว้ โดยไม่ใช่อำนาจของครม.
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/NgmO9i39ktA

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ