เลือกตั้งและการเมือง

ผบ.ตร.ปัดปิดกั้นสื่อ ชี้ไลฟ์ได้แต่ห้ามบิดเบือน-ชี้นำให้เข้าใจผิด 'พุทธิพงษ์' ยันไม่มีจอดำ

โดย

20 ต.ค. 2563

1.4K views

จากกรณีมีการเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่องให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการ ที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของ 4 สื่อ 1 เพจ ได้แก่ Voice TV, ประชาไท, The reporter, THE STANDARD และ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH

วันที่ 19 ต.ค. นายภุชพงศ์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับคำสั่งจาก กอร.ฉ. ทางกระทรวงได้ยื่นขอคำสั่งศาลมาเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ หาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการ กอร.ฉ. มีคำสั่งให้ระงับ

ทางกระทรวงก็พร้อมดำเนินการ ตามความผิดที่เข้าข่าย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่เรียกดูอุปกรณ์ ระงับการออกอากาศ และยึดอายัดอุปกรณ์โดยทันที ส่วนนักข่าวที่รายงานขณะนั้น ต้องดูที่เจตนาว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทางกระทรวงได้ดำเนินการแจ้งไปยัง 5 สื่อแล้ว กำหนดระยะเวลา 15 วัน ต้องระงับทันที หากไม่ดำเนินการจะแจ้งความเอาผิดต่อพนักงานสอบสวน ปอท.

ก่อนที่ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ออกมาระบุว่า คำสั่งฉบับที่ 4 เป็นการให้จัดการกับข้อมูลข่าวสารบางส่วน ไม่เคยมีนโยบายที่จะไปปิดสื่อ และจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เลย เนื่องจากว่าจะต้องมีการไปออกประกาศกำหนด หลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการในรายละเอียด เพื่อให้หน่วยที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายได้ทำให้เป็นแนวทางและทิศทางเดียวกัน

คำสั่งฉบับที่ 4 เป็นคำสั่งให้กระทรวงดีอีเอส และ กสทช. ไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ยังไม่ได้ไปปิดใครทั้งนั้น รายละเอียดกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ อยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ ยังไม่ออกมา เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การดำเนินการก็ต้องรอว่าเมื่อใดที่จะมีการบังคับใช้

"ข่าวสารชิ้นไหนที่เป็นประเด็นปัญหา เราก็จัดการกับชิ้นนั้น คลิปไหนมีปัญหาก็จัดการกับคลิปนั้น หรือบุคคลใดที่ไปโพสต์ข้อความหรือทำอะไรก็ตามในโลกโซเชียล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กระจายข่าวได้เร็วมากแล้วเกิดความสับสนวุ่นวาย มีการบิดเบือนยุยงปลุกปั่นก็จัดการกับบุคคลนั้น ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ ไปตามกฎหมาย

มีคนถามว่าผู้สื่อข่าวไปไลฟ์สดในสนามได้ไหม ก็ตอบว่าได้เพราะตามสิทธิเสรีภาพของสื่อ เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้าใจ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วทั้งสากลโลกก็รับรองสิทธินี้ เพราะฉะนั้นการไลฟ์สดในสนามทำได้ การเสนอข่าวสารทำได้แต่ที่เป็นประเด็นปัญหา"

ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เอกสารคำสั่ง ผบ.ตร. ที่ให้ตรวจสอบสื่อเป็นของจริง แต่จะต้องดูว่าบังคับใช้กับใครบ้าง แต่ในส่วนของกระทรวงได้ติดตามทั้งสื่อและรายบุคคลอย่างระมัดระวัง และจะดำเนินการในส่วนที่เข้าข่ายความผิดชัดเจน

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลใช้อำนาจปิดกั้นประชาชนนั้น ก็ย้ำว่าไม่ได้ดำเนินคดีกับทุกคน เพราะหากไม่เข้าข่ายความผิดหรือข้อกฎหมาย ก็ไม่ได้ดำเนินคดี ยืนยันไม่ได้ละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สื่อที่มีชื่อระบุในประกาศ ได้เคลื่อนไหวออกแถลงการณ์ Voice TV ยืนยันสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติ เป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพสื่อ ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ส่วน THE STANDARD ระบุ เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน

ขณะที่ The reporter ออกแถลง เรายึดมั่นในการทำหน้าที่สื่อเพื่อสันติภาพ ด้วยหวังว่าจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ด้วยแนวทางสันติวิธี    

ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/AtbU2sYh03E

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ