สังคม
วิเคราะห์สาเหตุเกิดโศกนาฏกรรม 'รถไฟชนรถบัส' เผยสูตรคำนวณติดไม้กั้น ต้องคำนึงความคุ้มค่า
โดย
13 ต.ค. 2563
28.7K views
จากกรณีเกิดอุบัติเหตุสลด รถไฟชนรถบัสที่จะไปทอดกฐิน มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บกว่า 42 ราย เหตุเกิดบริเวณจุดกั้นรถไฟสถานีคลองแขวงกลั่น จ.ฉะเชิงเทรา นั้น
วันที่ 12 ต.ค. นายประเทือง อยู่เกษม นายอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า ทางข้ามตรงนี้ทัศนวิสัยไม่ค่อยดี เป็นทางเนินขึ้นไปจนถึงรางรถไฟ ทำให้คนมองไม่เห็น เพราะมีต้นไม้ ต้นหญ้า เถาวัลย์ที่พันรั้ว ก่อนหน้านี้เคยมีเรื่องที่มีชาวบ้านเคยประสานขอไม้กั้น สัญญาณไฟ ทางอำเภอได้ประสานต่อไปยังการรถไฟ แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นเส้นทางลักผ่าน ทำให้การรถไฟไม่สามารถนำอุปกรณ์การปิดกั้นพื้นที่ได้
ก่อนหน้านี้เคยมีการปิดเส้นทางนี้ เพื่อมีแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่ แต่ชาวบ้านไม่ยอม เนื่องจากจะทำให้การสัญจรของชาวบ้านยากลำบาก แต่ทางอำเภอได้ประสานงานอย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาด้านงบประมาณ ที่จะต้องมีหลายภาคส่วนบูรณาการ จากการที่สอบถามคร่าว ๆ จะต้องใช้งบ 1-2 ล้านบาท หลังจากนี้ก็จะมีการตรวจสอบสถานีรถไฟที่เป็นลักษณะนี้ เบื้องต้นมีชาวบ้านแจ้งเข้ามาว่ามีอยู่ประมาณ 2 สถานี ที่จะต้องไปตรวจสอบ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับคนนอกพื้นที่
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ ได้ทำการปรับภูมิทัศน์บริเวณจุดเกิดเหตุ โดยการรื้อรั้ว ตัดต้นไม้กิ่งไม้ แผ้วถางป่าหญ้า ตลอดจนเถาวัลย์ไม้เลื้อยต่าง ๆ ที่เป็นจุดอับสายตาตลอดสองฝั่งจุดตัดทางรถไฟ ระยะ 150 เมตร เพื่อทำให้บริเวณจุดตัดข้ามทางรถไฟไม่มีสิ่งกีดขวางหรือบดบังสายตา และทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะสามารถมองเห็นรถไฟที่วิ่งมาได้อย่างชัดเจน พร้อมนำรั้วเหล็กมาวางเป็นจุดกั้นทางรถไฟ
และหลังจากนี้จะให้มีพนักงานให้สัญญาณรถไฟประจำจุดนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 น. เพื่อความปลอดภัยต่อไป ส่วนการติดตั้งไม้กั้นต้องรอการอนุมัติจากทางการรถไฟแห่งประเทศไทย
ขณะที่ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ก็ได้ลงพื้นที่บริเวณจุดเกิดอุบัติเหตุ เพื่อวิเคราะห์และหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
จากการตรวจสอบเบื้องต้น ระบุว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นปัญหาชัดเจนคือ ลักษณะกายภาพของจุดเกิดเหตุ โดยได้ทดลองขับตามเส้นทางที่รถโดยสารไม่ประจำทาง ขับมาก่อนถึงจุดเกิดเหตุ มีป้ายเตือนให้หยุดเพียง 3 ป้าย และหลายป้ายถูกต้นไม้บดบัง
และเมื่อมาถึงเนินขึ้นรางรถไฟ ถ้าไม่คุ้นชินทางอาจไม่ทราบว่าเป็นทางลักผ่าน เพราะมองเห็นได้ยาก นอกจากนี้ เมื่อทดลองหยุดรถก่อนขึ้นเนิน หากลองมองทางซ้ายและขวา ก่อนข้ามทางรถไฟ จะเห็นได้ชัดว่าทัศนวิสัยในการมองเห็นมองได้ยากลำบาก แม้จะมีการตัดต้นไม้ และนำรั้วเหล็กตลอดแนวทางรถไฟออกไปแล้ว เพื่อลดการบดบังสายตา ก็ยังมองไม่ชัด
โดยคำแนะนำจากการลงพื้นที่ การปรับภูมิทัศน์อาจจะยังไม่เพียงพอ เท่ากับการติดตั้งไม้กั้น และพื้นถนนควรเสริมการเตือนบนผิวจราจรเพิ่มเติม
นอกจากนี้ พบว่าการติดตั้งไม้กั้น ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า จะติดหรือไม่มีสูตรคำนวณคือ จำนวนรถสัญจรต่อวัน x จำนวนรถไฟที่ผ่านต่อวัน ถ้าผลเกิน 40,000 จะติดตั้งไม้กั้น ถ้าไม่ถึงจะติดตั้งสัญญาณเตือนแทน โดยไม้กั้นขนาดเล็กราคา 1.2 ล้านบาท ไม้กั้นขนาดใหญ่ราคา 4 ล้านบาท
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/xgeogENkCQ4
แท็กที่เกี่ยวข้อง