สังคม

โมเดล 'คชานุรักษ์' นำร่องปรับพื้นที่สร้างแหล่งอาหารให้สัตว์ป่า แก้ปัญหาช้างป่าสร้างความเสียหายให้ชุมชน

โดย

20 ก.ย. 2563

568 views

พาไปดูตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ด้วยการสร้างแหล่งน้ำและอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ซึ่งผ่านมากว่า 2 ปี ของโครงการคชานุรักษ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างพื้นที่แหล่งอาหารเพิ่มเติม ให้กับสัตว์ป่า หลังพบว่าสามารถลดปัญหาการออกจากป่าของช้างได้ และ ขยายสู่พื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยรอบเพิ่มเติม
สภาพสวนยางของชาวบ้านในพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง ในจังหวัดจันทบุรี เสียหายจากฝีมือของช้างป่าที่ออกหากินเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ร่องรอยและคราบดินต่างๆ ยังปรากฎอยู่ให้เห็นได้ชัด ซึ่งนี่คือวิถีชีวิตที่พวกเขาพบเจอมานานนับ 10 ปี 
ช้างที่ออกมาบนท้องถนนและกัดกินพืชสวนของชาวบ้านในพื้นที่รอยต่อแห่งนี้ ปรากฎออกมาตามสื่อบ่อยครั้ง ทั้งเป็นอันตรายต่อชุมชน และ สร้างความเสียหายต่อพืชสวน รวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง นายอาทร เอี่ยมละออ คือ หนึ่งในชาวบ้านจากโครงการคชานุรักษ์ ที่หันมาปลูกพืชที่มีกลิ่นฉุนป้องกันช้าง เช่น ชะอม เนื่องจากสวนของเขามักถูกช้างถิ่นเข้าหากินเป็นประจำ ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นอย่างดี 
ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้รับการอบรมจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ และ เรียนรู้วิธีการขับไล่โขลงช้างป่า ที่มักเข้าหากินตามชุมชน โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคมที่ช้างเริ่มกลับมาหากินในละแวกนี้ ด้วยการจัดชุดเฉพาะกิจประจำหมู่บ้านลาดตระเวนป้องกันช้างป่าเข้าทำลายพืชสวน
พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เป็นพื้นที่รอยต่อป่า 5 จังหวัดภาคตะวันออก มีเนื้อที่กว่า 52,300 ไร่ ซึ่งมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 137 ชนิด โดยเฉพาะช้างป่าที่หากินในพื้นที่ละแวกนี้ถึง 442 ตัว เฉลี่ยแล้วพบว่าในแต่ละปีจะมีช้างเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าภายใน 10 ปี จะมีจำนวนช้างเพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัว 
ทุ่งหญ้าแห่งนี้เป็นแปลงทดลองที่ศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์ ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ปี จนเห็นผลที่เป็นรูปธรรม จากการติดกล้องดักถ่ายสัตว์ และพบความอุดมสมบูรณ์ที่เกิดขึ้น จากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของสัตว์ป่าที่เข้ามาหากิน ลดความเสี่ยงที่จะออกไปเผชิญหน้าและพบกับแรงกดดันจากมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันได้ขยายพื้นที่จากเดิม 35 ไร่ เพิ่มอีก 20 ไร่ รวมแล้ว 55 ไร่
โมเดลแห่งนี้จะได้รับการต่อยอดไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาอ่างฤาใน ซึ่งมีปัญหาลักษณะเดียวกัน เพื่อปรับพื้นที่ให้มีศักยภาพในด้านของแหล่งอาหารและน้ำ ป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างคนกับสัตว์ป่า

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ