สังคม

ความเห็นชาวบ้านต่อ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง พบห่วงผลกระทบ-ค่าเวนคืนที่ดิน

โดย

15 ก.ย. 2563

846 views

หนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสาน คือโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ต้นน้ำเชื่อมต่อระหว่างอุดรธานี และหนองคาย และนอกจากสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่แล้ว ยังต้องมีพนังกั้นน้ำลำห้วยหลวง และประตูระบายน้ำเพื่อบริหารน้ำในระบบชลประทาน ซึ่งโครงการส่วนนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านแสดงความกังวลใจ ในระหว่างเปิดเวทีรับฟังวันนี้ว่าอาจกระทบวิถีชีวิตริมน้ำ รวมถึงค่าเวนคืนที่อาจไม่เพียงพอต่อการหาที่ดินใหม่
สถานีสูบน้ำบ้านแดนเมือง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นหนึ่งในกลไกที่ภาครัฐ คาดหวังว่าจะเป็นเครื่องมือบริหารจัดน้ำในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างใต้ เพราะนอกจากเป็นลำน้ำที่ขุดใหม่เชื่อมต่อแม่น้ำโขง ตัดเข้าสู่ลำห้วยหลวงโดยตรงแล้ว สถานีที่กำลังก่อสร้างนี้จะมีเครื่องสูบน้ำ รวม 10 เครื่อง  สูบน้ำได้รวม 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตามเป้าหมายของโครงการ คือเมื่อน้ำหลากในห้วยหลวง ซึ่งจะเอ่อท่วมพื้นที่ราว 9 หมื่นไร่ในหลายอำเภอของอุดรธานี และหนองคาย ก็จะใช้เครื่องสูบน้ำ สูบออกสู่แม่น้ำโขง และเมื่อต้องการน้ำเพื่อไปทำการเกษตร และอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหลายอำเภอของอุดรธานี ก็จะสูบน้ำจากแม่น้ำโขง เข้าลำห้วยหลวงนี้ 
เฉพาะสถานีสูบน้ำคืบหน้าไปเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะสถานที่ถูกเวนคืนทั้งหมด แต่กรณีพนังกั้นน้ำอีก 47 กิโลเมตร และอาคารบังคับน้ำ หรือประตูระบายน้ำที่จะสร้างตามมานี่เอง ที่ชาวบ้านบางส่วนยังกังวลใจ หนึ่งในข้อคิดเห็นระหว่างเวทีรับฟังความเห็นและชี้แจงการดำเนินการวันนี้ จากผู้นำชุมชนในเขตโพนพิสัย และอำเภอสร้างคอม อุดรธานีคือ แม้จะสนับสนุนให้โครงการเดินหน้าต่อไป แต่ต้องชดเชยด้วยความเป็นธรรม รวมถึงแจ้งข้อมูลคืบหน้าต่อชาวบ้านเป็นระยะ
ลำน้ำห้วยหลวง เคยเป็นหนึ่งเป้าหมายการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อปี 2535 ภายใต้เชื่อโขง ชี มูล คือการเชื่อมน้ำโขง เข้าลำน้ำชี ลงสู่ลำน้ำมูล แต่ด้วยหลายปัจจัยทำให้โครงการการยุติไป ขณะที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญของอีสานตอนบน มีลักษณะเฉพาะคือความลาดชันของลำห้วย ทำให้เมื่อน้ำหลาก ก็ท่วมเร็ว และเอ่อขังนาน ชาวบ้านจึงหันไปทำนาปรัง โดยใช้น้ำในลำห้วยนี้ แต่ปริมาณน้ำก็ไม่มากพอที่จะทำนาได้ เพราหลากลงน้ำโขงทั้งหมด เป้าหมายของโครงการนี้จึงหวังแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการปรับปรุง ซ่อม สร้างพนัง และประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ด้วย แต่นั้นก็เป็นหนึ่งความกังวลของชาวบ้าน 
เช่นที่ตำบลชุมช้าง อ.โพนพิสัย เป็นหนึ่งในพื้นที่สร้างแนวพนังริมสองฝั่งของลำห้วย ซึ่งใช้เป็นถนนตลอดแนวด้วย ตัวแทนชาวบ้านกังวลใจว่าจะกระทบต่อชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยริมฝั่งมาช้านาน
ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 3 กรมชลประทานรับปากชาวบ้านว่าขั้นตอนพนังและประตูระบายน้ำอยู่ระหว่างการให้ข้อมูลโดยยังไม่ลงมือทำในทันที่ และกรณีพื้นที่อ่อนไหว สุ่มเสี่ยงจะกระทบ ยืนยันจะปรับเปลี่ยน หรือทำให้กระทบน้อยที่สุด
โดยโครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2569 แต่นักพัฒนาสังคมในพื้นที่ ตั้งข้อสังเกตุและความเป็นห่วงเป็นห่วงเรื่องแหล่งดินเค็ม ที่อาจถูกพัดพาจากการไหลบ่าของน้ำ จนกระทบเป็นบริเวณกว้าง 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ