ไลฟ์สไตล์
เล่าเรื่องไทย ๆ กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง ตอน งานปักผ้าโบราณ มรดกภูมิปัญญาจากราชสำนักสยาม
โดย
15 ก.ย. 2563
1.3K views
วันนี้(15 ก.ย.63) เล่าเรื่องไทย ๆ กับสายสวรรค์ขยันยิ่ง พามาที่นิทรรศการศิลปหัตถกรรมหลายประเภทที่ใกล้สูญหาย ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ ศ.ศ.ป. อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พามาชมผ้าสมปักปูม ผ้าโบราณที่นิยมใช้ในราชสำนักสยาม ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และงานปักสะดึงกรึงไหม ซึ่งเป็นการปักผ้าแบบราชสำนักโบราณเช่นเดียวกัน โดยมีวิธีการปักแบบหลายประเภท
ผ้าสมปักปูม ในสมัยก่อนเป็นผ้าที่พระมหากษัตริย์ พระราชทานให้ขุนนางตามศักดินา สำหรับใช้เป็นเครื่องยศ ผ้าสมปักปูมเป็นผ้าไหมทอด้วยเทคนิคมัดหมี ผ้าแต่ละผืนจะประกอบด้วยส่วนของท้องผ้าตอนกลาง ซึ่งเป็นส่วนที่มีรวดลายต่าง ๆ รอบท้องผ้าเป็นช่อแทงท้องมีส่วนของสังเวียนรอบช่อแทงทอง และชายผ้าเป็นส่วนที่อยู่นอกส่วนสังเวียน เป็นพื้นที่ของลายที่เรียกว่าลายกรวยเชิง ปัจจุบันผ้าสมปักปูมแทบจะเป็นผ้าที่ไม่มีคนรู้จัก ช่างทอผ้าสมปักปูม ตามแบบอย่างโบราณ ยังคงมีครูสุรโชติ ตามเจริญ จังหวัดสุรินทร์ ผู้สืบสาน และรักษาการทอผ้าสมปักปูมไว้
ส่วนงานปักสะดึงกรึงไหม เป็นการปักผ้าแบบราชสำนักไทย ที่สืบทอดกันมานับ ๑๐๐ ปี ช่างตัดต้องใช้วัสดุบรรจงตัดเย็บลงบนผ้าฝ้าย หรือผ้าไหม ที่ขึงตึงบนสดึง ให้เกิดเป็นลวดลายบนผ้าตามที่ต้องการ ด้วยเทคนิคการปักดิ้นข้อ ปักดิ้นโปรง ปักซอย ปักไหมสี ปักหนุน และการถักกรองทอง เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะช่างชั้นสูง จึงเหลือผู้ชำนาญในการปักผ้าแบบโบราณน้อยราย หากแต่ยังมีช่างชั้นครู ที่ยังเห็นคุณค่าในการปักโบราณ มุ่งมั่นสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน
สามารถรับชมทางยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2YXGFNdUTvI
แท็กที่เกี่ยวข้อง