สังคม

โรงงานแปรรูปยางพารา จ.บึงกาฬ เสร็จไม่ทัน ก.ย.นี้ ตรวจพบโครงการไม่พร้อมตั้งแต่ต้น

โดย

29 ส.ค. 2563

1.8K views

ประเด็นการใช้เงินภาษีสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา ที่จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งอนุมัติผ่านงบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 193 ล้านบาท แต่โรงงานไม่มีทั้งระบบน้ำใช้ ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบไฟฟ้าโรงงาน ล่าสุดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณ และระบุว่าโครงการไม่พร้อมตั้งแต่เริ่มต้น จึงเกิดอุปสรรคหลายขั้นตอน แต่ต้องผลักดันให้คืบหน้า ไม่ให้เสียหายมากกว่านี้ ล่าสุดยังมีโรงงาน 3 หลัง ที่เสี่ยงว่าอาจแล้วเสร็จไม่ทันตามสัญญาสิ้นเดือนหน้า 
ช่างและคนงาน พยายามเร่งก่อสร้างทั้งฐานราก โครงสร้างอาคาร และโครงหลังคา เป็นต้น ของอาคารทั้ง 3 หลัง โรงงงานยางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทการแปรรูปยางพาราคา ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มโรงงานเดียวกันนี้ และโรงงานกลุ่มนี้มีทั้งหมด 8 หลัง เช่นโรงงานรับซื้อน้ำยางสด โรงงานแปรรูปหมอนยางพารา ที่นอนยางพารา เป็นต้น ซึ่งโรงงานอื่นๆแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบงงานแล้ว แต่โรงงาน 3 หลัง ล่าช้าเพราะมีการปรับแก้ไขแบบ และเริ่มตอกเสาเข็มเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้เผชิญอุปสรรคจากฤดูฝน
ส่วนราชการในจังหวัดบึงกาฬ อธิบายในระหว่างการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยว่า โรงงานนี้แม้จะก่อหนี้ผูกพันธ์ในสัญญาแล้ว แต่เพราะเป็นงบกลุ่มจังหวัดที่อนุมิตั้งแต่ปี 2560 ต้องแล้วเสร็จในกันยายน 2563 หากทำไม่แล้วเสร็จตามกำหนด งบประมาณก้อนนี้ต้องส่งคืนเท่านั้น หากโรงงานสร้างไม่เสร็จตามกำหนด ผู้รับเหมาจะเบิกเงินได้เท่ากับจำนวนงานที่ก่อสร้างไป แต่นั่นก็จะสร้างปัญหาใหม่ ในแง่ที่ว่า จะต้องตั้งงบประมาณใหม่มาสานต่อ 
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าโครงการนี้ใช้งบกลุ่มจังหวัด 193 ล้านบาท สร้างบนที่ดินของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางบึงกาฬ ซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคล ทำให้กรมธนารักษ์ต้องขึ้นทะเบียนทรัพย์สินดังกล่าว บนที่ดินของชุมนุมสหกรณ์ ที่เป็นนิติบุคคล ในขณะที่ชุมนุมสหกรณ์มีภาระหนี้สินกับธนาคารออมสิน โดยนำที่ดินแปลงนี้ค้ำประกันไว้ ทำให้การจะขึ้นทะเบียนกรรมสิทธิ์เหนือผืนดิน ต้องได้รับอนุมัติจากธนาคารออมสินด้วย 
ขณะที่การประชุมเพื่อสรุปปัญหาอุปสรรคในโครงการดังกล่าว เพื่อให้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราเดินหน้าต่อไปได้ ก็ยังมีประเด็นว่าระบบน้ำใช้โรงงาน ระบบบำบัดน้ำเสียและไฟฟ้าโรงงาน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
แนวทางแก้ปัญหาล่าสุด คือกรมธนารักษ์ อนุญาตให้ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ่ายค่าตอบจำนวน 2 แสนบาท เพื่อใช้โรงงานจากโครงการนี้ ถึงสิงหาคมปีหน้า จากนั้นต้องเช่าปีละกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแม้ชุมนุมสหกรณ์ได้สิทธิ์เช่า แต่โรงงานเดินหน้าไม่ได้ขาดระบบน้ำไฟ ตอนนี้ชุมนุมสหกรณ์ จึงทำเรื่องขอรับการสนับสนุนจาก การยางแห่งประเทศไทยราว 57 ล้านบาท แต่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของบอดร์ดการยางแห่งประเทศ นี่จึงกลายเป็นหนึ่งปมที่พัวพันไปมา 
โดย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า การคัดเลือกโครงการไม่มีความพร้อมตั้งแต่ต้น แต่ก็ต้องผลักดันให้เดินหน้าในแนวทางที่ก่อรายได้ให้คุ้มภาษี 
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณ 193 ล้านบาท สำนักงานตรวจเงินภาคที่ 6 ได้เข้าตรวจสอบแล้ว และเตรียมออกรายงานโดยสรุปแล้ว ติดตามในวันพรุ่งนี้ครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ