เลือกตั้งและการเมือง

'ยุทธพงศ์' แฉเอกสารลับจีทูจีซื้อเรือดำน้ำ ส่อเป็นโมฆะ ชี้คนใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล เป็นนายหน้าขายเรือดำน้ำ

โดย

23 ส.ค. 2563

1.8K views

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณปี 2564 แถลงข่าวว่า กรณีที่ประชุมอนุกรรมาธิการมีมติเห็นชอบงบจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนของกองทัพเรือ จำนวน 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาทว่า ที่ประชุมอนุกรรมาธิการเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในตอนแรกมีมติเสมอกัน 4 ต่อ 4 แต่สุดท้าย นายสุพล ฟองงาม ประธานอนุกรรมาธิการฯก็ลงมติเห็นชอบ ทั้งที่ตำแหน่งประธานไม่ควรลงมติ เนื่องจากต้องวางตัวเป็นกลาง แต่นายสุพล กลับมาลงอีกเสียงหนึ่งเสียง ทำให้มติเป็น 5 ต่อ 4 ที่เห็นชอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ 
ต่อมาก็มีการตั้งคำถามว่า มีการล๊อบบี้ในคณะอนุกรรมาธิการฯหรือไม่ ซึ่งครั้งแรก กองทัพเรือเข้ามาเสนองบประมาณ แต่อนุกรรมาธิการเห็นว่า หากการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรกไปแล้ว และไม่ได้ผูกพันลำที่สองและสาม ก็ขอให้ชะลอไว้ก่อน อย่าเพิ่งซื้อ แต่กองทัพเรือไม่ยอม ดึงดันให้ซื้อให้ได้ สุดท้ายงบประมาณก็ถูกแขวนไว้ ไม่ให้ผ่าน เพราะอนุกรรมาธิการ มีเสียงเป็นเอกฉันท์ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่จำเป็นในขณะนี้ และมีกรรมาธิการคนหนึ่งที่ออกเสียงไม่ซื้อเรือดำน้ำ ถึงกับบอกในห้องประชุมว่า ลองให้ทหารถอดเครื่องแบบแล้วถามชาวบ้านในต่างจังหวัด ก็จะพบว่า ชาวบ้านไม่ยอมให้ซื้อเรือดำน้ำแน่นอน แต่สุดท้าย การลงมติอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กรรมาธิการคนดังกล่าวนี้ก็โหวตให้ซื้อเรือดำน้ำ ดังนั้น จึงเชื่อว่ามีการล๊อบบี้จากผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่างแน่นอน
ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการฯงบประมาณชุดใหญ่ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ จะเสนอเรื่องที่คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นชอบซื้อเรือดำน้ำจากจีน อีก 2 ลำ วงเงิน 22,500 ล้านบาท ต่อที่ประชุม เพื่อขอมติ ให้ชะลอการจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งหากกรรมาธิการชุดใหญ่ ยังยืนยันตามมติเดิมที่จะให้ซื้อเรือดำน้ำ ก็จะขอให้ กรรมาธิการทั้ง 72 คนโหวตแสดงตัวเป็นรายบุคคล เพื่อให้ประชาชนได้รู้ว่า ส.ส.รายใดบ้างที่สนับสนุนการซื้อเรือดำน้ำดังกล่าว
นายยุทธพงศ์ ยังได้นำเอกสารลับ ที่เป็นสัญญาลงนามจัดซื้อเรือดำน้ำ แบบจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ มาแสดง เพื่อชี้ให้เห็นว่า การลงนามดังกล่าวกระทำผิดกฎหมาย เพราะการลงนามในสัญญาแบบจีทูจี ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่การลงนามในสัญญาดังกล่าวคือ พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเสนาธิการทหารเรือ อีกทั้งไม่มีหนังสือมอบอำนาจซึ่งต้องเป็นมติ ครม.และผู้รับมอบอำนาจต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น ขณะที่บุคคลที่ลงในสัญญาจากจีนก็เป็นผู้แทนจากบริษัทเอกชน ไม่ใช่คนในรัฐบาล เรื่องนี้จะทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงเรียกร้องให้พลเอกลือชัย ออกมาชี้แจงเรื่องการลงนามในสัญญาทั้งที่ไม่มีอำนาจ ซึ่งส่อถึงความไม่โปร่งใส
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล เป็นนายหน้าขายเรือดำน้ำ จึงพยายามจะผลักดันให้กองทัพเรือ เร่งดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำให้ได้ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น และหากนายกรัฐมนตรียังดึงดันจะจัดซื้อเรือดำนำต่อ เชื่อจะเป็นจุดจบของรัฐบาลในยามที่อดยากของรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเรือดำน้ำจะออกมาชุมนุมร่วมกับกลุ่มเยาวชนอีกจำนวนมาก และจะขอตั้งฉายาให้พลเอกประยุทธ์ “นายกฯไทย หัวใจเรือดำน้ำจีน”
ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/D_sAFU_beTk

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ