เศรษฐกิจ

จีดีพีไตรมาส 2 ทรุดหนัก -12.2% คนตกงาน 7.5 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเท่าตัว รัฐจ่อกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่แจกเงิน

โดย

18 ส.ค. 2563

645 views

สภาพัฒน์ เผย จีดีพีไตรมาส 2 ทรุดหนัก ติดลบ 12.2 % แรงงานตกงาน 7.5 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากสถานการณ์ปกติ  ขณะที่ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปีนี้ ติดลบ 12.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของปีแล้ว แต่ยังติดลบน้อยกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ติดลบ 12.5% และคาดว่าไตรมาส 3-4 จะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้

ขณะที่ทั้งปี คาดจะติดลบร้อยละ 7.3-7.8 จากเดิมที่คาดจะติดลบร้อยละ 5-6 ภายใต้สมมุติฐานที่ไทยไม่เกิดการระบาดรอบ 2 ยังคงจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงสิ้นปี

ส่วนสถานการณ์การว่างงานมีผู้ว่างงานจำนวน 7.5 แสนคน หรือ 1.95% ของแรงงานทั้งระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่า จากอัตราการว่างงานในช่วงปกติ และเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 52 ที่น่าห่วงมีแรงงาน 1.76 ถึง 1.8 ล้านคน แม้จะมีงานทำ แต่มีความเสี่ยงถ้าเปิดเมืองไม่ได้ ไม่รวมกลุ่มแรงงานนอกระบบ 16 ล้านคน ที่กำลังขาดสภาพคล่อง อาการร่อแร่เต็มที ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ยังส่งผลให้หนี้ครัวเรือนไตรมาสแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 คิดเป็นสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่ ร้อยละ 80.1 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลังว่า ภายในเดือนนี้ รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเป็นมาตรการที่ดูแลประชาชน และผู้ประกอบการที่มีความเดือดร้อน ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจและผลกระทบโควิด-19 (ศปศ.) จะเป็นผู้พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

โดยมาตรการที่จะออกมานั้น จะเป็นมาตรการที่เข้าไปช่วยดูแลและสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ วงเงินที่ใช้จะอยู่ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ ส่วนการแจกเงินนั้นจะลดลง และหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น จะมีการปรับแก้เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ อยู่ในช่วงที่ยากลำบาก เพราะการลงทุน การบริโภคหายไป และการส่งออกหดตัว เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แต่เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น เพราะเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข นายปรีดียอมรับว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จะมีข้อจำกัดเรื่องของเม็ดเงิน แต่ไม่ใช่ถังแตก ยังสามารถบริหารจัดการได้

ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/0fnvhn8hJY4

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ