อาชญากรรม

นักวิชาการจัดเสวนายกเครื่องกระบวนการยุติธรรมไทย บทเรียนจากคดี 'บอส อยู่วิทยา'

โดย

2 ส.ค. 2563

990 views

วงเสวนา ชี้คดี “บอส อยู่วิทยา” สะเทือนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทำผิดให้เป็นถูก ตอกย้ำ “คนจน-คนรวย” ใช้กฎหมายคนละมาตรฐาน ขณะที่ตัวแทนอัยการ ยอมรับองค์กรต้องปฏิรูป ชูโมเดลต่างปท. “สอบสวนร่วมกับตร.” ไม่ใช่รอแค่ส่งสำนวน ด้าน “คำนูญ” โยนนายกฯ ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลมก่อนลุกลาม ชง 2 ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ ยกเครื่องการสอบสวน

วันนี้มีเวทีเสวนาสาธารณะ “บทเรียนกรณีบอส กระทิงแดง จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างไรไม่ให้คนผิดลอยนวล
โดย พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเป็นอดีตตำรวจนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจทางเคมี ฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง กล่าวว่า กรณี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส เป็นความท้าทายปัญหาทั้งระบบ เพราะมีวัตถุพยานบ่งชี้ ทั้งร่องรอยความเสียหายรอบรถ ที่เป็นชนในลักษณะตรง ไม่ใช่การเปลี่ยนเลนกะทันหัน หรือความเร็ว ที่มีกล้องวงจรปิดสามารถตรวจสอบได้ จะคำนวนใหม่อย่างไรหลักฐานก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้
และส่วนตัวเห็นว่ามีน้ำหนักมากกว่าคำให้การของพยานบุคคล แต่ผลกลับออกมาแบบค้านสายตา ดังนั้นกรณีดังกล่าว ทำให้เห็นว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และทางออก ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งหน่วยงานตรวจสอบเพิ่มขึ้น เพราะนอกจากต้องเสียงบประมาณแล้ว ยังเพิ่มขั้นตอน ซึ่งเมื่อกระบวนการยุติธรรมล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม และหากคนทำผิดที่จะวิ่งเต้นคดี ก็แค่ไปอีกหน่วยงาน จึงไม่เชื่อว่าการตรวจสอบจากการเพิ่มหน่วยงานหรือบุคคล ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่วิธีแก้ปัญหาที่เป็นคำตอบ คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
ด้านนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม มองว่า การที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง บอส กระทบกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพราะมีที่ทำผิดในลักษณะเดียวกันถูกดำเนินคดี หรือติดคุกไปแล้ว เหตุการณ์นี้ทำให้สิ่งที่เราพูดกันว่า คนจน กับคนรวย เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมต่างกัน ยิ่งตอกย้ำชัดเจนมากขึ้น และการทำให้คนตายเป็นคนผิด เป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ 
ส่วนการตั้งกรรมการสอบกันเองของ อัยการหรือตำรวจ จะได้อะไรก็เป็นคำถาม เพราะส่วนตัวไม่อยากให้เฟอร์รารี่คนที่ 2 ขับรถชนตำรวจตายไม่ติดคุกอีก ส่วนการรื้อคดีใหม่ ตนคงตอบไม่ได้ เพราะเมื่ออัยการสั่งไม่ฟ้อง โอกาสที่จะรื้อคดีคงเป็นเรื่องยาก เพราะตามกลไกไม่ได้ให้อำนาจทนายแสวงหาพยานใหม่ได้ ซึ่งยังไม่รวม1 ในประจักษ์พยานที่เสียชีวิต ทำให้กระบวนการหาความจริงหายไป และไม่ว่าจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือการฆาตกรรม เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องหาความจริง ว่าเชื่อมโยงกับส่วนไหนหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญจะต้องมีคำตอบ
นอกจากนี้ยังมีมุมมองของอัยการ โดย ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จ.สุพรรณบุรี บอกว่า วันนี้เป็นการพูดส่วนตัว ในฐานะนักวิชาการ ยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรม ยังไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้จริง ซึ่งกรณีของ “บอส อยู่วิทยา” เป็นปรากฎการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะครั้งนี้ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ถึงขั้นมีการบิดเบือนทางวิทยาศาสตร์ 
ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะผลักดันให้สำนวนขึ้นไปศาล เพราะเมื่อหลักฐานไม่ชัดเจน และเกิดความสงสัย จะไปสู่การยกฟ้อง นั่นเท่ากับเป็นการฟอกขาวให้คนทำผิด จึงมองว่าไม่ใช่ทางออก สิ่งที่ตนอยากเรียกร้อง คือ ต้องสร้างกระบวนการยุติธรรม “ที่ให้คนคิดชั่วอย่างไร ก็ทำเลวไม่ได้” ที่สำคัญต้องกำหนดระยะเวลา เพราะยิ่งทอดไปนาน ก็จะมีเวลาวิ่งเต้นคดี ทำให้พยาย หลักฐานต่างๆสูญหาย หรือถูกเบือนไปจากเดิม
“ถ้าจะพูดถึงการปฏิรูป อัยการเองก็ต้องปฏิรูปเหมือนในประเทศสากลที่ทำกัน ไม่ใช่แค่บอกว่าตำรวจส่งมาให้แค่นี้ แต่เป็นความรับผิดชอบต้องค้นหาความจริง สิ่งที่เกิดขึ้นเห็นว่า วิธีการคิดที่ล้าหลัง และปัจจุบันองค์กรอัยการ ก็ไม่ได้ออกแบบให้ทำแบบนั้นได้ด้วย”
ส่วนในมุมมอง ส.ว. อย่างนายคำนูณ สิทธิสมาน เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจต้องตัดไฟแต่ต้นลม หากตอบคำถามไม่ได้ อาจจะเป็นชนวนของสิ่งที่ใหญ่กว่า โดยมองว่าคดี “บอส อยู่วิทยา” ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ก่อนหน้า 14 ตุลา 16 ตอนนั้นมีคดีทุ่งใหญ่นเรศวร จนเกิดปฏิกิริยาของนิสิต นักศึกษาเป็นลูกโซ่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในเดือน ต.ค.16 
ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นในตัวนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบในตัวนายกรัฐมนตรี แต่ส่วนตัวเชื่อว่าท่านได้ยินเสียงประชาชน เป็นที่มาของคำสั่งให้ชะลอการฌาปณกิจศพพยานในคดีที่เสียชีวิต เพื่อนำศพมาชันสูตรตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อคลายความข้องใจทั้งหมด ซึ่งการดำเนินการทั้งสองขั้นตอนนี้อย่างน้อยก็ตอบสังคมได้ระดับหนึ่ง แต่เป็นคำตอบได้มากแค่ไหนเวลาจะเป็นครื่องพิสูจน์
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลชุดนี้ตระหนักในความใหญ่โตของปัญหาระดับที่จะเกิดเหตุใหญ่ขึ้นมาได้ ซึ่งคดีนี้เหมือนฟางเส้นท้ายๆ นายกฯจะต้องเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เข้าสู่รัฐสภา ในฐานะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือ สป.ยธ. มองว่า ทางออกในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะตำรวจ และอัยการ ที่เป็นต้นทางนั้น นอกจาก ร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ตามที่นายคำนูญ ได้ระบุไว้แล้ว ยังมีร่างแก้ไข ป วิอาญา ที่เชื่อว่าแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะจะให้อำนาจพนักงานสอบสวน ไม่ต้องอยู่ภายใต้หัวหน้าสถานีตำรวจแบบเดิม และสามารถสรุปสำนวนเสนอต่ออัยการเองได้ อีกทั้งยังเปิดช่องทางให้ “อัยการ” ร่วมตรวจสอบตั้งแต่เกิดเหตุได้ ไม่ต้องรอสำนวนจากตำรวจเพียงอย่างเดียวเหมือนอดีต

สามารถรับชมทางยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/iyEy7GC8Ou0

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ