สังคม

ทันตแพทยสภา ยัน หมอทำฟัน ‘บอส อยู่วิทยา’ ไม่ได้ใช้โคเคนรักษา 'สิระ' จ่อเชิญชี้แจง

โดย

1 ส.ค. 2563

1K views

อุปนายกฯทันตแพทยสภา ยัน หมอทำฟัน ‘บอส  อยู่วิทยา’ ไม่ได้ใช้ยาที่มีส่วนประกอบ ‘โคนเคน’ เผย รักษาอาการเหงือกอักเสบก่อนเกิดเหตุรถ 5 วัน รู้สึกไม่สบายใจเตรียมข้อมูลเข้าชี้แจงกรรมาธิการฯ เคยให้ปากคำกับตำรวจไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว 
เมื่อวานนี้ (31 ก.ค.) ทันแพทย์เผด็จ ตั้งงามสกุล  อุปนายกคนที่ 1  ทันตแพทยสภา เผยถึงกรณีการตรวจพบสารโคเคนในเลือดของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ซึ่งตำรวจให้ข้อมูลว่าสารโคเคนที่ตรวจพบเกิดจากการรักษาฟัน จึงเป็นเหตุให้ตำรวจไม่สั่งฟ้องคดียาเสพติด
โดยระบุว่าเมื่อช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.30 น. ของวันที่ 31 ก.ค. ทันตแพทยสภาได้รับการติดต่อจากหมอฟันที่รักษาฟันให้ ‘บอส อยู่วิทยา’ ยืนยันยาชาที่ใช้ไม่มีส่วนผสมของโคเคน โดยทันแพทย์ท่านนั้น เคยให้ปากคำกับตำรวจไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งตำรวจได้ไปสอบปากคำที่คลินิก
โดยทันแพทย์ท่านดังกล่าว ระบุว่า  เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2555 หรือ 5 วัน ก่อนที่นายวรยุทธ จะเกิดอุบัติเหตุขับรถชน ด.ต.วิเชียร  กลั่นประเสริฐ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2555 ได้ให้การรักษาอาการเหงือกอักเสบของนายวรยุทธ มีการฉีดยาชา Mepivacaine (เมพิวาเคน) เป็นยากลุ่มเดียวกันกับ  Lido caine (ลิโดเคน) เป็นยาชาธรรมดา  
และจ่ายยาปฏิชีวนะ Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ให้ทานแค่นี้เท่านั้น ตัวยาทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโคเคน ซึ่งเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ทันตแพทย์ท่านดังกล่าวติดธุระอยู่ต่างจังหวัด โดยขอเวลารวบรวมข้อมูล หากมีคณะกรรมาธิการฯ ชุดใดติดต่อไปหาก็พร้อมชี้แจง เนื่องจากเครียดรู้สึกไม่สบายที่มีข่าวออกมาในลักษณะนี้
ทันแพทย์เผด็จ ระบุว่า อยากให้ทันตแพทย์ท่านนั้นได้ชี้แจงด้วยตนเอง ในส่วนหน่วยงานต้นสังกัดยังไม่ได้เชิญทันตแพทย์ท่านดังกล่าวเข้ามาให้ข้อมูลแต่อย่างใด แต่ทันตแพทยสภามีความเป็นห่วงสังคมจะเข้าใจผิดว่าคลินิกทันตกรรมมีการใช้โคเคน ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้ใช้  ต่อให้ไปสำรวจดูตามคลินิกทันตกรรมต่าง ๆ ก็ไม่พบว่ามีการใช้ยาชาที่มีส่วนผสมโคเคน ยืนยัน ปัจจุบันคลินิกทันตกรรมไม่มีการนำโคเคนมาใช้ระงับการเจ็บปวด หรือใช้เป็นยาชาแต่อย่างใด
ทันแพทย์เผด็จ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ในเชิงทันตกรรมไม่ได้ใช้โคเคนหรือเลิกใช้เกือบ 100 ปีแล้ว ยังไงก็เป็นไปไม่ได้ที่ผลตรวจนายวรยุทธ จะเจอโคเคน เหตุผลทางการแพทย์หากจำเป็นต้องใช้โคเคนรักษาจริง  ๆ ก็ต้องไปขออนุญาตจากผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลการใช้ยาเสพติด และนำยามาเก็บไว้ในคลินิก แต่ทุกวันนี้ทางทันตกรรมไม่มีความจำเป็นต้องใช้โคเคน
โดยยาชาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตามคลินิกทันตกรรมทั่วไปสะดวก ปลอดภัย และได้ผลฉีดแล้วชาเร็วกว่า ทำไมต้องกลับไปใช้โคเคนอีกเพราะไม่มีประโยชน์ในทางทันตกรรมแล้ว  โดยทันตแพทย์ทราบว่าโคเคนเป็นส่วนประกอบของยาชา แต่ไม่เคยนำมาใช้เพราะไม่รู้จะนำมาใช้ในกรณีใด
อย่างเคสหมอฟันที่เป็นหมอผ่าตัดกระดูกกราม ตัดแต่งเนื้อเยื้อ ซึ่งมีความเจ็บปวดมากก็จะใช้ยากลุ่มมอร์ฟีน ส่วนใหญ่ใช้ในโรงพยาบาลที่มีใบอนุญาต เวลาใช้หมอต้องเซ็นชื่อรับรองว่าใช้ยาประเภทนี้กับผู้ป่วยจริง กรณีที่นำยาเสพติดมาใช้เพื่อรักษาจะมีการควบคุมทุกขั้นตอน
“หากทันตแพทย์และทันตแพทยสภา ไม่ออกพูดถึงเรื่องนี้ ก็เหมือนยอมรับว่าเราใช้ยาชาที่มีส่วนผสมโคเคน ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่มี ประชาชนก็ยิ่งเข้าใจผิด และอาจเป็นช่องทางให้กับผู้กระทำผิด” 
ทันแพทย์เผด็จ   กล่าวต่อว่า โคเคนเป็นยาเสพติด แต่ยาชาส่วนใหญ่จะลงท้ายคำว่าเคน เช่น Mepivacaine (เมพิวาเคน) Lido caine (ลิโดเคน) Articaine (อาร์ติเคน) Bupivacaine (บิวพิวาเคน) แต่ละตัวจะมีคุณสมบัติต่างกัน ขึ้นอยู่กับหมอที่จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับเคส ซึ่งตำรวจที่เข้าให้ข้อมูลกันกรรมธิการฯ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโคเคน
กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกโดยในต่างประเทศเคยมีการตรวจพบสารเสพติดในร่างกายของจำเลย  พอขึ้นศาลก็อ้างว่าตัวเองไปทำฟันมา ซึ่งมีข้ออ้างแบบนี้บ่อยครั้ง จนกระทั่งหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทันตแพทย์ ได้ทำการวิจัยว่านำยาชามาฉีด แล้วไปตรวจดูว่าจะตรวจพบสารเสพติดโคเคนหรือไม่ ซึ่งมีการออกดเอกสารวิชาการยืนยันเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นสารคนละตัวกัน
ขณะที่ พลตำรวจเอก ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยประเด็นการพบสารโคเคนในร่างกาย โดยยืนยันว่าได้รับผลการตรวจเลือกของ บอส อยู่วิทยา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2555 โดยแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี และ นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ พบสารในร่างกาย 4 ชนิด โดย 2 ชนิดเป็นยานอนหลับ และ กาแฟ ส่วนอีก 2 ชนิด เป็นสารที่เกิดจากการย่อยสลายโคเคน และ สารที่เกิดจากการเสพโคเคนร่วมกับแอลกอฮอล์ โดยตำรวจได้เรียกแพทย์ที่ทำการรักษาบอส อยู่วิทยา มาให้ข้อมูล ซึ่งแพทย์ยืนยันว่า ได้ให้ยาบรรเทาอาการอักเสบไม่มีส่วนผสมของสารเสพติด
จากนั้นตำรวจได้นำผลการตรวจดังกล่าวไปสอบสวนแพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าเป็นสารเสพติดหรือไม่ ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่าผลการตรวจดังกล่าวอาจเกิดจากยาปฎิชีวนะ ที่อาจส่งผลลวงต่อการตรวจหรือเป็นสารเสพติดจริง เมื่อนำมาพิจารณาในคณะพนักงานสอบสวนแล้วเห็นว่าสารทั้ง 2 ชนิดไม่ถูกบัญญัติว่าเป็นสารที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับไม่มีหลักฐานอื่นจึงไม่ได้แจ้งข้อหาในความผิดที่เกี่ยวข้อง แต่ได้ทำรายงานความเห็นเรื่องที่ส่งไปยังอัยการ ส่วนที่มีการนำเรื่องน้ีไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ และมีการเปิดเผยข้อมูลว่าสารโคเคนดังกล่าวเกิดจากการรักษาฟันนั้น เชื่อว่าเป็นความเข้าใจที่คาดเคลื่อนและข้อมูลดังกล่าวมีการตรวจสอบยืนยันเป็นเอกสารชัดเจน ส่วนการดำเนินการหลังจากนี้คือการหาผู้เชี่ยวชาที่จะชี้ชัดได้ว่าสารทั้ง 2 ชนิด เกิดจากอะไร ซึ่งอาจประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาข้อสรุปและหากท้ายที่สุดพบว่าเป็นสารเสพติดจริงจะเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป 
ขณะที่ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเชิญส่งหนังสือเชิญแพทย์เกี่ยวข้องกับคดีนี้ทุกท่านมาให้ข้อมูลที่แท้จริง คือว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ต้องหา 
รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/3qdp-AqElpU

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ