สังคม

คุณตาไอเดียเจ๋ง! นำกะลามะพร้าวเหลือทิ้งทำเป็นสัตว์ตัวน้อย ของฝากขึ้นชื่อของชุมชน

โดย

23 ก.ค. 2563

2.4K views

เพชรบูรณ์ ปราชญ์ชาวบ้าน วัยกว่า 70 ปี ไอเดียเจ๋ง นำสิ่งของเหลือใช้ในชุมชน มะพร้าวหลอด และ รากไม้ไผ่ ประดิษฐ์เป็นของฝากของที่ระลึก ทั้ง สุนัข สิงโต นกฮูก ลิง และปลาฝา หรือตะพาบ สร้างทั้งรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้าน
วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ปราชญ์ชาวบ้าน วัยกว่า 70 ปี ไอเดียเจ๋ง นำสิ่งเหลือใช้ในชุมชนที่เปล่าประโยชน์ มาออกแบบ สร้างสรรค์ จนกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ ของฝากของที่ระลึกได้อย่างลงตัว สวยงาม ช่วยสร้างทั้งรายได้เลี้ยงครอบครัว และที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้าน "ปลาฝา" ให้กลายเป็นที่รู้จักได้อย่างกว้างขวาง 
ผู้สื่อข่าว จึงเดินทางไปพบกับ นายสำคัญ สีเงา หรือ ลุงสำคัญ ปราชญ์ชาวบ้าน วัย 70 ปี อาศัยอยู่เลขที่ 84 หมู่ 5 บ้านปลาฝา ตำบลหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งกำลังนั่งประดิษฐ์ของฝาก ของที่ระลึกจากวัสดุเหลือใช้ ที่หาได้ง่ายในชุมชน เช่น มะพร้าวหลอด และ รากไม้ไผ่ โดยนำมาออกแบบ บนความคิดสร้างสรรค์ ตามรูปร่างและลักษณะของชิ้นงาน จนกลายมาเป็นของฝากของที่ระลึก ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เฉพาะตัว และแต่ละชิ้นงาน ก็จะแตกต่างกันออกไป เช่น สุนัข สิงโต นกฮูก ลิง และปลาฝา หรือตะพาบ ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของลุงเอง
จากการสอบถาม ลุงสำคัญ เล่าว่า เมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน ขณะที่ตนไปช่วยงานเพื่อนบ้านในชุมชนได้บังเอิญเห็นของฝากของที่ระลึก เป็นรูปร่างลิงในลูกมะพร้าวตั้งโชว์อยู่ จึงเกิดความคิด อยากทดลองทำดูบ้าง ประกอบกับในชุมชน มีต้นมะพร้าว และต้นไผ่ ขึ้นอยู่เต็มไปหมด
เมื่อกลับมาบ้าน จึงไปหาเลือกเก็บลูกมะพร้าวหลอด ซึ่งก็คือ ลูกมะพร้าวที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีน้ำ ไม่มีเนื้อ และน้ำหนักเบา จากนั้นนำมาปลอกเปลือก และออกแบบ ตามจินตนาการ ตัดแต่ง แกะสลัก จนเป็นรูปร่างลิง ในลักษณะต่าง ๆ เสร็จแล้วก็ทาเคลือบด้วยแลคเกอร์ เพื่อเกิดความสวยงามและคงทน 
โดยในช่วงแรก ตนทำแจกให้ลูกหลาน และเพื่อนบ้านที่สนใจ พร้อมทั้งนำไปใช้ประดับ ตกแต่งในงานบุญภายในวัดแถวบ้าน กระทั่งมี พ่อค้าแม่ค้า เกิดความใจอยากนำไปขายเป็นของฝากของที่ระลึกตามแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยติดต่อสั่งซื้อกันเรื่อยมา จนตนผลิตไม่ทัน จึงได้ขยายผลสู่ชุมชน ด้วยการเปิดสอนฟรี แก่ผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ว่างงาน เพื่อให้มีรายได้ และมีงานทำแก้เหงา 
นอกจากมะพร้าวหลอดแล้วนั้น ตนยังได้นำรากไม้ไผ่ ซึ่งหาได้ง่ายในชุมชน มาออกแบบ พร้อมแกะสลักเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามจินตนาการ พร้อมทาแลคเกอร์ เพื่อความสวยงามและคงทน จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ รากไม้ไผ่ออมสิน , รากไม้ไผ่แจกัน ฯลฯ โดยมีราคาจำหน่าย ทั้งจากผลิตภัณฑ์มะพร้าวหลอดและรากไม้ไผ่ เริ่มต้นเพียง 99 บาท ไปจนถึง 500 บาท ขึ้นอยู่กับรูปร่าง ขนาด และความยากง่าย
ชมผ่านยูทูบที่นี่ : https://youtu.be/cfHFDvUVfd4

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ