สังคม

เกาะติดตรวจสอบโรงงานแปรรูปยางพารา งบ 193 ล้าน จ.บึงกาฬ ก่อสร้างล่าช้า ล่าสุดพบขึ้นทะเบียนแล้ว 5 แห่ง

โดย

22 มิ.ย. 2563

2.3K views

หลังจากข่าว 3 มิติ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ตั้งข้อสังเกตโรงงงานแปรรูปยางพารา ภายใต้งบประมาณ กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 193 ล้านบาท ที่จังหวัดบึงกาฬ ยังไม่สามารถเปิดเดินเครื่องได้ เพราะขาดความพร้อมระบบไฟฟ้า ระบบน้ำและบ่อบำบัดน้ำเสีย 
ล่าสุดมีการยืนยันว่าโรงงาน 5 หลังจากจำนวน 8 หลัง ได้ถูกขึ้นทะเบียน ในการดูแลของธนารักษ์พื้นที่บึงกาฬแล้ว และไม่มีบ่อบำนัดน้ำเสียอยู่ในรายการขึ้นทะเบียนจริง ขณะที่ทั้ง อบจ.และชุมนุมสหกรณ์การเกษตร เคยเจรจาขอเช่า แต่ติดว่ายังเปิดเดินเครื่องโรงงานไม่ได้
ธนารักษ์พื้นที่บึงกาฬ ยืนยันกับข่าว 3 มิติว่าว่า โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งใช้งบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน 193 ล้านบาท สร้างโรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 8 หลังนั้น ตอนนี้แล้วเสร็จ และขึ้นทะเบียนแล้ว 5 หลัง ใน ประเภทสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ราชพัสดุ ที่ไม่ได้ตั้งบนที่ดินของราชพัสดุ
เพราะโรงงานสร้างจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ไปตั้งอยู่บนที่ดินของชุนุมสหกรณ์กองทุน ซึ่งเป็นนิติบุคคล 
ทั้ง 5 โรงงานที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2560 ประกอด้วยโรงงานผลิตหมอนยางพารา /โรงงานผลิตที่นอนยางพารา โรงงานผลิตอัดก้อนยางพารา โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตเศษยางพาราเป็นแผ่นเครฟ ทั้งโรงงานและเครื่องจักรของทั้ง 5 หลัง คิดเป็นมูลค่าราว 150 ล้านบาท 
และทั้งหมดขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินธนารักษ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 
สำหรับโรงงานอีก 3 แห่งข่าว 3มิติได้ข้อมูลว่าได้รับการขยายสัญญาอย่างถูกต้อง และกันเงินงบประมาณไว้แล้ว 
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 5 หลังที่แล้วเสร็จไปนั้น ไม่รวมระบบไฟฟ้าโรงงาน และไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย 
ระบบบำบัดน้ำเสียโรงงานเป็นส่วนสำคัญทั้งในแง่อุตสาหกรรมและการแจ้งจดทะเบียนกับกรมโรงงาน และก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยังทำโรงงานเปิดเดินเครื่องไม่ได้ แต่มีรายงานความพยายามของบประมาณจากกองทุนหรือหน่วยงานอื่น เพื่อมาสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย และการนำน้ำจากแม่น้ำสงครามที่อยู่ห่างออกไปราว 3-4 กิโลเมตรมาใช้ในโรงงาน 
ขณะที่แผนการใช้ประโยชน์ของโรงงาน 5 ที่แล้วเสร็จนี้ ธนารักษ์พื้นที่บึงกาฬระบุว่า ปลายปีที่แล้ว อบจ.ทำเรื่องขอเช่าใช้ประโยชน์แต่ภายหลังยกเลิก และมีนาคมที่ผ่านมา ชุมนุมสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ เจรจาขอเช่าใช้ประโยชน์ แต่มีเงื่อนไขขอผ่อนผันชำระเงินค่าเช่า จนกว่าเครื่องจักรทั้งหมดจะทำงานได้ 
ซึ่งข้อเท็จจริง ธนารักษ์ไม่เกี่ยวข้องในแง่การทำงานได้หรือไม่ของเครื่องจักร แต่ธนารักษ์มีหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ที่เกิดจากเงินภาษี ขั้นตอนนี้ จึงให้สหกรณ์นำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อให้กรมธนารักษ์พิจารณาว่าจะให้เช่าโดยผ่อนผ่อนได้หรือไม่ 
เบื้องต้น ค่าเช่าของโรงงานทั้ง 5 หลัง เป็นเงิน 1 ล้าน 4 แสนบาทต่อไป สัญญาแรกมีระยะเวลา 3 ปี บวกค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายครั้งเดียว รวมเป็นเงินมากกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้การเจรจาเช่า ยังไม่ได้ข้อสรุป
ขณะเดียวกันวันนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 อุดรธานี ได้ลงพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงการดังกล่าวจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์ การใช้เงินงบประมาณของรัฐ โดยเฉพาะประเด็นการสัมฤทธิ์ผลของการใช้งบประมาณแผ่นดิน 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ