เลือกตั้งและการเมือง

กลุ่มเพื่อน-องค์กรสิทธิมนุษยชน ย้ำ #วันเฉลิม เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ควรได้รับการคุ้มครอง ไม่ควรถูกอุ้มหาย

โดย

11 มิ.ย. 2563

1.7K views

ความเคลื่อนไหวของนักสิทธิมนุษขนในการติดตามการหายตัวไป ของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หลังจากเชื่อว่าถูกอุ้มหายไปถึงวันนี้ครบ7วันแล้ว โดยหายจากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา แต่ยังไม่มีความชัดเจนในข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลกัมพูชากำลังสอบสวน ขณะที่ครอบครัวคาดหวังขอให้ปลอดภัย โดยยืนยันว่า นายวันเฉลิม ไม่ใช่แอดมินเพจ การเมือง แต่ด้วยเหตุมีคำสั่งให้ไปรายงานตัวกับ คสช.ทำให้หวาดกลัวความปลอดภัย จึงต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ซึ่งแม้ในทางกฏหมายจะไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัย แต่องค์กรสิทธิมนุษยชน เห็นว่า วันเฉลิม เป็น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ควรได้รับการคุ้มครอง และต้องไม่มีใครถูกบังคับให้สูญหาย โดยคาดหวังว่า จะมีการผลักดันกฏหมายป้องกันและปราบปรามการบังคับสูญหายผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา 
กลุ่มเพื่อนวันเฉลิม ให้เหตุผลว่าทำไมต้องตามหาวันเฉลิม เพราะ การลี้ภัยออกนอกประเทศ ของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ มาจากความหวาดกลัวจากคำสั่ง คสช.ที่ถูกเรียกรายงานตัวเมื่อปี 2557 เพราะ วันเฉลิม เป็นเพียง นักกิจกรรมที่ทำงานอย่างสันติมาโดยตลอด ตั้งแต่การทำงานเพื่อ เยาวชน กลุ่มหลากหลายทางเพศ การป้องกันโรคเอดส์ จนเริ่มมาให้ความเห็นทางการเมืองหลังการรัฐประหารของ คสช. ซึ่งยืนยันได้ว่า นายวันเฉลิม ไม่ใช่แอดมินเพจ กู้ต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆซึ่งเป็นเพียงการกล่าวอ้างโดยที่นายวันเฉลิมไม่มีโอกาสชี้แจง รวมถึงการนำภาพกับต้นกัญชามาใส่ร้ายว่าค้ากัญชา กลุ่มเพื่อนขอความเป็นธรรมว่าหากนายวันเฉลิมทำจริง คงไม่นำมาโพสต์ในโซเซียล จึงขอให้มองเหตุผลของการถูกอุ้มหายและการตามหานายวันเฉลิม เพราะไม่ควรมีใครต้องถูกบังคับให้สูญหายจากการเห็นต่างทางการเมือง
เวทีเสวนา ตามหาวันเฉลิม: ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย (และทรมาน) จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มเพื่อนและองค์กรสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม เพื่อชี้ให้เห็นเหตุผลของการติดตามตัวนายวันเฉลิม โดยนายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนต์ไรต์ วอชช์ เห็นว่า นอกจากความเป็นมนุษย์แล้ว นายวันเฉลิม เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในความหมายขององค์กรสิทธิมนุษยชน แม้ยังไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยจาก unhcr แต่วันเฉลิม ควรได้รับความคุ้มครอง และร้ฐบาลไทยกับกัมพูชา ต้องทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ไม่ใช่ดิสเครดิต ด้วยการทำให้ด้อยค่าทางสังคม จากปฏิบัติการข่าวสารหรือ ไอโอ ที่กลายเป็นสูตรสำเร็จของการทำให้บุคคลสูญหาย
นาอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งหายตัวไปเมื่อปี 2547 ให้กำลังใจครอบครัวของนายวันเฉลิม ที่ต้องเผชิญชะตากรรมที่ บุคคลสูญหาย จะถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้กลายเป็นคนไม่ดี ซึ่งวันเฉลิมไม่ใช่คนแรกที่ถูกทำให้สูญหาย การได้รับความยุติธรรม จะต้องมีกฏหมายคุ้มครองการอุ้มหายโดยเร็วที่สุด ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชน อย่างแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เรียกร้องให้มีการสืบสวน การหายไปของวันเฉลิม โดยเร็วที่สุด
นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ย้ำว่า แม้ความผิดตามกฏหมายของนายวันเฉลิม อาจไม่มีโทษหนัก แต่การถูกคุกคามต่อความปลอดภัยในชีวิต จนต้องทำให้มีการลี้ภัย และหายคนต้องเสียชีวิต จึงไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับใครขึ้นอีก โดยในส่วนกระทรวงยุติธรรม นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ยืนยันว่าขณะนี้กระทรวงยุติธรรมกำลังประสานผ่านกระทรวงต่างประเทศ ไปยังสถานทูตไทย ในกัมพูชา เพื่อติดตามกรณีของวันเฉลิม และผลักดัน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย ที่กำลังเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังพยายามผลักดันมากว่า 7 ปี 
ขณะที่ พ.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำว่ากฏหมายต้องให้ความยุติธรรมกับคนจน ซึ่งพรรคฝ่ายค้านพร้อมผลักดันอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล มองว่าแม้กฏหมายป้องกันการอุ้มหายจะเกิดขึ้นยากในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ พรรคก้าวไกล จะผลักดันอย่างเต็มที่และได้นำเรื่องของวันเฉลิม เข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการกฏหมายด้วย และคาดหวังว่านายวันเฉลิม ยังปลอดภัย 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ