สังคม

ย้อนรอยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไทย ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย

โดย

10 มิ.ย. 2563

2K views

การถูกอุ้มหายของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดความสนใจถึงการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทย ถูกบังคับให้สูญหายมากถึง 82 คน ในจำนวนนี้ถูกสังหายและบังคับให้สูญหายไปแล้วไม่น้อยกว่า 70 คน ซึ่งครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ต่างไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และคาดหวังให้มีกฏหมายเพื่อได้รับความยุติธรรม ติดตามรายงาน ย้อนรอยการบังคับให้สูญหายในประเทศไทย 
นางสุภาพ คำแหล้ ในวัย 66 ปียังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิที่ดินทำกินให้กับชาวโคกยาว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ หลังนายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน และประธานโฉนดชุมชนโคกยาว สูญหายไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 ขณะเข้าเก็บของป่า จนมีการพบหลักฐานกระดูกมนุษย์และตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ว่านายเด่น เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ตราบใดที่ไม่สามารถพิสูจนืได้ นางสุภาพ ก็เชื่อเสมอว่า การตายของนายเด่น มาจากการถูกอุ้มหาย
นายเด่น คำแหล้ เป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวไทย 82 คน ที่ถูกบังคับให้สูญหายตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ และจากการรวมบรวมข้อมูลของ องค์กร Protection International หรือ พีไอ พบว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีนักต่อสู้ระดับชุมชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายไปไม่น้อยกว่า 70 คน ซึ่งล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พีไอ ร่วมกับ นายลุค ดักเกิลบี ช่างภาพชาวอังกฤษ ได้จัดนิทรรศการแด่นักสู้ผู้จากไปจำนวน 56 คน ซึ่งนอกจากบุคคลที่ถูกอุ้มหายที่เป็นที่รู้จักเช่น นายสมชาย นีละไพจิตร แล้วยังมีนักต่อสู้สิทธิชุมชนที่ถูกสังหาร เช่นนายเกษตร ยศบุญเรือง ชาวจังหวัดนานที่อนุรักษ์สัตว์ป่า นายเจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก ถูกยิงเสียชีวิตจากการคัดการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นอกจากนี้ ยังมีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ลี้ภัยออกจากประเทศไทยหลังการรัฐประหารของ คสช.ในปี 2557 ที่หายตัวไปขณะลี้ภัยในต่างประเทศ เช่น นายอิทธิพล สุขแป้น หายตัวไปเมื่อปี 2559 นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ถูกลักพาตัวไปเมื่อเดือนกรกฏาคม 2560 และนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หายตัวไปหลังถูกลักพาตัวในเวียงจันทร์เมื่อเดือนธันวาคม 2561 พร้อมกับ นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ ที่ต่อมาพบศพของพวกเขาลอยอยู่ในแม่น้ำโขงฝั่งประเทศไทย แต่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ 
การไม่สามารถพิสูจน์ความจริงถึงการสูญหาย การไม่ได้รับความยุติธรรมตามกฏหมาย ยิ่งตอกย้ำความเจ็บปวดให้กับครอบครัวผู้สูญหาย และบางครอบครัวภรรยาผู้ยังมีชีวิตต้องต่อสู้อย่างลำพัง เช่น นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยา นายสมชาย นีละไพจิตร นางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นางปรานี ด่านวัฒนานุสรณ์​และนางสุภาพ คำแหล้ ที่ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีของนายวันเฉลิม ที่ไม่ใช่คนแรกจากการถูกอุ้มหาย
บุคคลที่สูญหายมิอาจเรียกร้องความเป็นธรรมของตัวเองได้ ครอบครัวไม่สามารถเป็นผู้เสียหายฟ้องรองได้ กลายเป็นที่มาของการเสนอกฏหมาย ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อในการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ตั้งแต่ปี 2555 แต่กฏหมายที่เริ่มต้นร่างจากกระทรวงยุติธรรม จนมาถึงภาคประชาชน ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร และอาจเป็นอุปสรรคหนึ่งในการติดตามการหายไปของนายวันเฉลิม ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย
25 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จึงร่วมกันจัดเวที ตามหาวันเฉลิม ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการถูกบังคับสูญหายและทรมาน ขึ้นในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องไม่มีใครถูกอุ้มหาย 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ