ข่าวโซเชียล

รพ.ยันกรณีสาวคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิต ไม่เกี่ยวอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ - ตั้งคกก.สอบ 2 สัปดาห์รู้ผลชัด

โดย

10 มิ.ย. 2563

2.7K views

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ กิตติภพ แซ่ตั้ง โพสต์ข้อความว่า พาภรรยาท้อง 6 เดือนไปอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ โดยคุณหมอที่ทำอัลตร้าซาวด์ไม่ใช่หมอประจำที่เคยตรวจให้ทุกครั้ง และมีการกดท้องของภรรยาอย่างแรงหลายครั้ง จนเจ็บและปวดท้องตลอดทั้งคืน ไม่ถึง 2 วันก็ต้องกลับไปหาหมออีกครั้ง และคลอดก่อนกำหนด สุดท้ายทารกเสียชีวิต

ล่าสุดนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้น

โดยทางโรงพยาบาลยืนยันว่า การรักษาเป็นไปตามระบบมาตรฐานของโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่เป็นข่าวเข้ามาฝากครรภ์กับโรงพยาบาล ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ทุกครั้งที่มาตรวจมีสูตินารีแพทย์ดูแลทุกครั้ง ซึ่งผู้ป่วยก็มาตามนัดปกติ

จนวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ทางแพทย์ผู้ดูแล ส่งผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์เวชศาสตร์มารดา เพื่อทำการอัลตร้าซาวน์ 4D ตรวจสอบดูว่าเด็กมีอวัยวะและหัวใจเป็นปกติหรือไม่ ต่อมาในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์ฉุกเฉิน จึงเดินทางมาที่โรงพยาบาล แพทย์พบว่ามีป่วยมีอาการเจ็บครรภ์ใกล้คลอด จึงได้ผ่าตัดคลอด เด็กคลอดออกมาร่างกายไม่แข็งแรงมากนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เด็กทารกนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 2 วัน ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เด็กเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้รายละเอียดจากทางโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว จากนี้จะเรียกผู้เสียหายคือคุณพ่อและคุณแม่เด็กมาให้ข้อมูล ล่าสุดผู้เสียหายยินดีจะเข้าให้ข้อมูลกับทางกรมฯ คาดว่าจะสอบสวนแล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

จากนั้นจะส่งเรื่องให้แพทยสภา ตรวจสอบเรื่องมาตรฐานวิชาชีพต่อไป เพราะสิ่งที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะตรวจสอบเรื่องนี้ มี 2 อย่าง อย่างแรกคือการตรวจสอบมาตรฐานวิชาชีพ ด้วยการส่งเรื่องให้แพทยสภาเป็นผู้ตรวจสอบ ส่วนอีกเรื่องเป็นการตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาล เป็นไปตามข้อกำหนดหรือไม่

ในเบื้องต้นทางผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนและทีมแพทย์ผู้รักษา ก็ยืนยันว่าการรักษา และการทำอัลตร้าซาวน์ 4D เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนตามระบบ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปสาเหตุการเสียชีวิตของทารก ต้องรอผลสอบสวนของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน

แต่จากข้อมูลทางวิชาการยังไม่เคยพบว่าการอัลตร้าซาวน์ 4D เป็นอันตรายต่อเด็ก เพราะเป็นวิธีการที่ใช้ทั่วไปเป็นมาตรฐาน แต่กรณีนี้ต้องไปดูรายละเอียด ว่าแพทย์ผู้รักษาดำเนินการขั้นตอนอย่างไร เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้มีความสะอาด หรือเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่

หากคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบสวนทั้ง 2 ฝ่ายแล้วเสร็จจะได้ความชัดเจนมากขึ้น เพราะคณะกรรมการฯชุดนี้ จะประกอบด้วยแพทย์หลากหลายสาขา ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนแพทยสภา ร่วมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ทางกรมฯยืนยันจะให้ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมากับทุกฝ่าย

ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/IgnFP8of7EY

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ