สังคม

เทียบชัด คนไทยเครียดขอลาโลก VS ตายเพราะโควิด-19 โศกนาฏกรรม ใต้ความเหลื่อมล้ำ

โดย

1 พ.ค. 2563

10.9K views

วิกฤตการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19...เชื้อมรณะที่พรากชีวิต พรากเงินทอง พรากความสุข และความปกติสามัญผู้คน จนรัฐบาลต้องสั่งอัดยาแรงปิดเมืองล็อกดาวน์ คุมเข้มรณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ  ชัตดาวน์เศรษฐกิจสู้โควิด-19 ซึ่งผลปรากฎเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าจำนวนยอดผู้ติดเชื้อ และยอดผู้เสียชีวิตลดลงอย่างน่าพอใจ แต่ทว่า…
ดั่งดาบ 2 คม...ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดี กลับมีเสียงกรีดร้องของคนยากคนจนตาดำๆ ผู้หาเช้ากินค่ำที่ต้องด่วนตีตั๋วลาโลกเซ่นพิษโควิด-19 เพราะเมื่อหนทางทำมาหากิน อันเป็นทางออกสุดท้ายถูกปิดลง เมื่อชีวิตเดินทางมาถึงทางตัน ความฝันที่มีจึงต้องดับลงอย่างไร้ลมหายใจ... 
ผลวิจัยชี้คนไทยฆ่าตัวตาย เท่าคนตายเพราะโควิด
คณะนักวิจัย "โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" ได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ ซึ่งพบว่ามีข้อมูลอันน่าสนใจหลายประการ
จากข้อมูลที่คณะนักวิจัยรวบรวมข้อมูลนั้น พบว่า นับแต่วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1 ถึง 21 เมษายน 2563) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย และตัวเลขดังกล่าวบ่งบอกถึงอะไร...?
คณะนักวิจัย ระบุว่า จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน, การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด, การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ ยอดคนฆ่าตัวตายทั้ง 38 ราย พบว่า 35 รายเป็นลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า, คนขับรถ, เด็กเสิร์ฟ, ช่างเชื่อม เป็นต้น และเป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของธุรกิจรายย่อย จำนวน 3 ราย
ขณะเดียวกัน จะสังเกตได้ว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายและมาตรการของรัฐคือ กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนจนเมือง ซึ่งต้องตกงานแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือเยียวยาจากทางภาครัฐอย่างทันท่วงที
แน่นอนว่าการรับมือกับไวรัสโควิด-19 เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในขณะเดียวกันการใช้มาตรการเพื่อรับมือกับปัญหานี้ก็ควรต้องเป็นไปเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถก้าวพ้นจากปัญหาไปได้...
ทีมข่าวช่อง 3 ออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือในฐานะหัวหน้าชุด "โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" ซึ่ง ศ.ดร.อรรถจักร์ ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจในหลายประเด็น
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะวิจัย
คณะนักวิจัย ยันไม่ได้โจมตีรัฐบาล แค่ชี้ให้เห็นความเจ็บปวดใต้ความเหลื่อมล้ำ
ศ.ดร.อรรถจักร์ กล่าวว่า “ทางคณะถูกโจมตีว่าผลงานนี้ไม่ใช่งานวิจัย แต่เป็นการสร้างกระแสโจมตีรัฐบาล จึงต้องขอทำความเข้าใจว่าผลงานที่เผยแพร่ออกไปเป็นการแถลงผลการรวบรวมข้อมูล เพื่อต้องการชี้ให้สังคมเห็นว่าขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มีจำนวนลดลงซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี และทางคณะก็ชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งที่เราไม่ได้พูดถึงคือการฆ่าตัวตายจากผลกระทบของมาตรการดังกล่าว ทางคณะจึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลและเสนอต่อสังคม เพื่อช่วยกันคิดว่าเวลานี้เราควรจะแก้ไขกันอย่างไร” ศ.ดร. อรรถจักร์ กล่าว
ศ.ดร. อรรถจักร์ ยังกล่าวอีกว่า “ยอดการฆ่าตัวตาย มีความสัมพันธ์กับวิกฤติโควิด-19 การตกงาน และมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ซึ่งการฆ่าตัวตายที่ไม่ปรากฎเป็นข่าวยังมีการตกสำรวจไปอีกมาก"
ทั้งนี้ การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง จนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย
"ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการมอบเงินเยียวยา ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ายังมีเงินก้อนหนึ่งถึงจะไม่มากไว้ใช้ประทังชีวิต แต่จะต้องให้กระจายอย่างทั่วถึง และมีปัญหาตกหล่นน้อยที่สุด"
"เราต้องการสะท้อนปัญหาให้สังคมได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของคนจนที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งโควิด-19 มาทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยทุกผลงานการรวบรวมข้อมูลของเราจะมีข้อเสนอแนะ ซึ่งไม่มีความประสงค์ร้ายแต่อย่างใด หากรัฐบาลและสังคมตระหนักถึงปัญหา รวมกันแก้ไขอย่างจริงจังก็จะสามารถช่วยคนจนที่ประสบปัญหาเหล่านี้ได้” ศ.ดร. อรรถจักร์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับตัวเลขคนฆ่าตัวตายน่าห่วง
ล่าสุด นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ยอมรับว่า ตัวเลขประชาชนฆ่าตัวตายมีแนวโน้มที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง คล้ายวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกนอกจากผลกระทบทางกายแล้ว บางคนก็ได้รับผลกระทบทางใจอย่างชัดเจน การพยากรณ์พบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น และไม่ได้ผิดไปจากการคาดหมาย
"ในช่วงปี 2540 ช่วงที่ไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ มีอัตราคนฆ่าตัวตายอยู่ที่ 8.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น เพราะเรายังมีมาตรการที่ป้องกันทำให้ตัวเลขลดลงได้  พร้อมแนะนำว่า หากใครพบผู้ใกล้ชิดมีสัญญาณของการจะฆ่าตัวตาย ให้ร้องขอความช่วยเหลือมาทางสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง" นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว.

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ