สังคม

นายกฯ หารือผ่อนปรนล็อคดาวน์บางจังหวัด - กทม.ยืดเวลางดจำหน่ายสุราถึงสิ้นเดือนนี้

โดย

21 เม.ย. 2563

785 views

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นประธานการประชุมที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมจะรับทราบความคืบหน้าที่การปฎิบัติงานของ ศบค. ตามสายงานต่างๆ เพื่อนำมาประเมิน ผ่อนปรนล็อคดาวน์บางมาตรการ เพื่อให้เศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อไป  โดยในสัปดาห์นี้ นายกฯ จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นด้วยตนเอง เพื่อรับฟังปัญหาที่แท้จริง และนำมาปรับใช้ผ่อนปรนบางมาตรการต่อไป
และเมื่อวานนี้ (20 เม.ย.) ทางกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันถึงเรื่องการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ โดยเสนอว่าการปลดล็อคนั้นยังไม่สมควรทำเสียทีเดียว แต่ควรเริ่มจากจังหวัดที่เริ่มไม่ปรากฏการติดเชื้อมาเป็นเวลา 14 วัน
โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าตอนนี้มี 35 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อมาเป็นเวลา 14 วันแล้ว และมีอีก9 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเลย ซึ่งจะมีการปลดล็อคตั้งแต่ช่วงปลายเดือนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ยังมีอีก 7 จังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากและจะผ่อนปรนล็อคดาวน์เป็นกลุ่มสุดท้าย ราวๆ ช่วงต้นมิถุนายน คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี ภูเก็ต สมุทรปราการ ยะลา ปัตตานี
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้านการแก้ไขปัญหา สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เปิดเผยภายหลังประชุมผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ ได้มีการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการผ่อนปรนมาตรการ รวม 5 ข้อ โดยแนวทางดังกล่าว ยังคงเน้นย้ำเข้มในมาตรการหลักปฏิบัติ ต่าง ๆ ไว้ ประกอบด้วย 
1.มาตรการการคัดกรองคนเข้าประเทศ ยังคงมีไว้อย่างเข้มงวด ซึ่งหากมีคนกลับมา จะต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด จะต้องมีการค้นหา กลุ่มคนที่มีความเสี่ยง อาทิ ภายในชุมชน, แรงงาน, ต่างชาติ
2.ประชาชนทุกคนยังต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน และเว้นระยะห่าง งดการชุมนุมในจำนวนที่มีคนหมู่มาก แม้ว่าขณะนี้ไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี
3.ในส่วนของภาคธุรกิจ ที่ขณะนี้มีคนตกงานจำนวนมาก ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเพื่อปรับแนวทางการทำงาน
4.กิจการที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ สถานบันเทิง, คาราโอเกะ จะต้องปิดระยะยาว จากนั้นจะผ่อนปรนเป็นรายจังหวัด ซึ่งจะต้องดูจากอัตราจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่นั่นๆ
5. การเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์ที่ต้องติดตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ หากเกิดมีการแพร่ระบาดอีกครั้ง เพื่อให้สามารถควบคุมได้ทันหากเกิดการแพร่ระบาด
สำหรับการยกเลิกหรือผ่อนปรนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประเมิน เช่น มาตรการเปิดห้างสรรพสินค้า อาจให้มีการเปิดแบบจำกัดจำนวนคนเข้า และมีแอพลิเคชั่นให้ลงทะเบียน เพื่อดูยอดคนเข้า รวมถึงต้องคัดกรองก่อนเข้า รวมถึงโรงเรียนก็ต้องพิจารณาอีกครั้งโดยเฉพาะในห้องเรียนที่ติดแอร์ อาจจะยังไม่อนุญาตให้ใช้
อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการผ่อนปรน มาตรการพร้อมกันทั้ง 77 จังหวัด แต่จะดู ในแต่ละพื้นที่ ที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ หรือยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อ โดยจะเริ่มทดลองในพื้นที่ 3 - 4 จังหวัด ในช่วงปลายเดือน เมษายนนี้ หากพบว่ามาตรการที่วางไว้มีประสิทธิภาพ จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 38 จังหวัด ที่พบผู้ป่วยจำนวนน้อย และในช่วงต้นเดือน มิถุนายน จะทำอีกในพื้นที่ 7 จังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยต่อเนื่อง
ส่วนทางกรุงเทพมหานครได้จัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงพิจารณาเรื่องของมาตรการต่างๆในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยมีพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ 
ภายหลังการประชุม ร้อยตำรวจเอกพงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. เตรียมออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 7 เพื่อขยายเวลาการปิดร้านค้าหรือสถานประกอบการที่ขายสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนถึงสิ้นเดือน ในวันที่ 30 เมษายนนี้ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า การเปิดให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการชักชวนมารวมตัวกัน ใกล้ชิดกัน จนอาจทำให้เกิดความไม่ระมัดระวัง เสี่ยงต่อการติดหรือแพร่เชื้อได้ อีกทั้งยังต้องการให้แนวทางปฏิบัติมีความสอดคล้องกับนโยบายภาพรวมของกระทรวงมหาดไทย ที่หลายจังหวัดจะมีการประกาศขยายเวลาเช่นกัน
ขณะที่มาตรการอื่นๆยังคงป็นไปตามประกาศ ส่วนจะมาตรการจะมีความเข้มงวดหรือผ่อนปรนอย่างไร หรือการพิจารณาจะเปิดสถานที่ใด หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งต้องพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน ทั้งตัวเลขของผู้ติดเชื้อ ข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนแนวทางปฏิบัติของกระทรวงมหาดไทย  
ส่วนอีกประเด็นที่มีการหารือร่วมกัน คือ แนวทางเรื่องของการแจกอาหารและสิ่งของจำเป็น ให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนอย่างเหมาะสม ถูกวิธี ป้องกันที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่ระบาดได้ เนื่องจากพบว่าในแต่ละครั้งจะมีผู้มารวมตัวรอรับของเป็นจำนวนมาก ซึ่ง กทม. มีข้อแนะนำขอให้มีการเปลี่ยนเป็นการแจกตามบ้านเรือน เคาะประตูบ้านเป็นรายๆไป บริจาคผ่านหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือมาใช้บริการจุดที่ทาง กทม. จัดเตรียมไว้ทั้ง 71 จุด ทั่วทั้ง 50 เขต ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยจัดระเบียบการเว้นระยะห่าง ตรวจวัดอุณหภูมิ และเจลสำหรับล้างมือ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่จะร่วมบริจาคประสานข้อมูลกับทางสำนักงานเขตแต่ละเขต เพื่อความเรียบร้อยและป้องกันเรื่องการแพร่ระบาดของโรค 
พร้อมกันนี้ กทม.ยังได้จัดทำระบบ BKK Health ใช้งานผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อใช้ลงทะเบียนและตรวจสอบการบริจาคอาหาร สิ่งของจำเป็น ซึ่งจะบอกช่วงเวลา และความต้องการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและทำให้เกิดความทั่วถึง ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายใน 1-2 วันนี้ นอกจากนี้สิ่งที่ยังเตรียมจะดำเนินการระยะต่อไปเรื่องของการตรวจหาเชื้อเชิงรุก หลังก่อนหน้านี้ลงพื้นที่ตรวจในกลุ่มเสี่ยง จะขยายไปสู่การตรวจเชิงอาชีพและเชิงพื้นที่ เพื่อให้มีความครอบคลุมและป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/GNjpLN7597I

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ