อาชญากรรม

'จิตรลดา' วิกลจริตสิทธิ์เท่าเทียม หรือเบี่ยงเอียงตาชั่ง

โดย

30 มี.ค. 2563

16.9K views

โบราณว่า "อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา" เห็นจะใช้ไม่ได้กับคดีเขย่าประสาทหัวอกพ่อแม่เมื่อ วันที่ 9 ก.ย.2548 'จิตรลดา' หรือ น.ส.จิตรลดา ตันติวณิชยสุข สาววิกลจริตป่วยจิตเพศเรื้อรังอายุ 36 ปี (อายุขณะนั้น) สวมเสื้อยืดสีดำ กางเกงขาสั้นสีชมพู ควงมีดบุกเข้าไล่แทงเด็กนักเรียนโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย โดยเป็นนักเรียนชั้นม.2 และป.6 ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 3 รายต้องเข้ารับการผ่าตัด ก่อนที่มือมีดจะว่าจ้างจักรยานยนต์รับจ้างพาหนีหายไป หลังจากนั้นมีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสจนตำรวจสามารถรวบตัวไว้ได้ โดยให้การรับสารภาพทั้งหมด
เมื่อว่าในทางคดียึดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  65 "ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก น.ส.จิตรลดา เป็นเวลา 8 ปี ฐานพยายามฆ่า แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 4 ปี เมื่อส่งตัวให้จิตแพทย์ทดสอบสภาพจิตใจ พบว่า น.ส.จิตรลดา มีอาการทางประสาทเรื้อรังมานานมากกว่า 10 ปี โดยขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง
ศาลจึงเห็นว่าหลังจากจำเลยรับโทษจำคุกครบ 4 ปีแล้ว ให้ส่งตัวไปบำบัดอาการป่วยที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ให้หายเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบัน น.ส.จิตรลดามีอาการดีขึ้นเป็นปกติและถูกปล่อยตัวออกจากสถาบัน กลับมาพักฟื้นที่บ้านพักแล้วเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา
เหมือนฝันร้ายย้อนหลอนตอนตื่น เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2563 น.ส.จิตรลดา ก่อเหตุแทงเด็กหญิงวัย 5 ขวบจนเสียชีวิต ในพื้นที่ ต.วัดแค อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก่อนเดินเข้ามอบตัวกับตำรวจ ซึ่งเธออยู่ในอาการเหม่อลอย บ้างก็เดินแบบไร้ความรู้สึกแล้วล้มตัวลงนอนกับพื้น ไม่สามารถให้ปากคำได้ บางช่วงยังทำตาขวางใส่เจ้าหน้าที่
ด้าน นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่เคยรักษาอาการป่วยของน.ส.จิตลดา เผยว่า น.ส.จิตรลดาเข้าออกโรงพยาบาลถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ถูกปล่อยตัวเมื่อปี 2555 ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถกักตัวได้ตลอดเวลาเพราะไม่มีกฎหมายกักตัวไว้ได้ตลอด ทุกครั้งที่อาการดีขึ้นจะปล่อยตัวให้กลับบ้าน ทุกครั้งที่มีการปล่อยตัวจะมีการประเมินทั้งตัวผู้ป่วยและญาติว่ามีความพร้อมในการดูแลหรือไม่ แต่ครั้งนี้ไม่รู้ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ขณะนี้ต้องรอทางโรงพยาบาลนครปฐมประเมินร่างกายก่อนที่จะส่งตัวมายังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้ ทำให้สังคมต่างตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองผู้ป่วยจิตเวชนั้น ควรมีการนิยามการให้โทษ หรือกระบวนการคัดแยกตัวจากสังคม หรือมีการพิจารณาเฉพาะตัวบุคคลหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ