สังคม

ผอ.โรคติดต่อห่วงตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 โคม่าพุ่ง สองกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ‘สูงอายุ - มีโรคประจำตัว’ โอกาสเสียชีวิตสูง

โดย

29 มี.ค. 2563

15.5K views

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สิ่งที่กังวลและอยากให้ประชาชนรับทราบเพื่อป้องกันการป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 เพราะประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ส่วนหนึ่งจึงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเป็นส่วนน้อย 

ทั้งนี้ โรคโควิด-19 นั้น จาก 100 คน พบว่า จำนวน 80 คน จะมีอาการน้อยหรือน้อยมาก จนไม่ได้นึกว่าเป็นโรคนี้ ส่วนอีก 20 คนเข้ารักษาในโรงพยาบาล โดยจำนวนนี้ 5 คนจะมีอาการรุนแรง และบางส่วนจะเสียชีวิต ถ้าดูจากตัวเลขเสียชีวิตของไทยขณะนี้อยู่ที่ 6 คน หากดูจากผู้ป่วยทั้งหมด 1,245 คน ก็มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 0.5 % ถือว่าเป็นตัวเลขในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่อัตราป่วยตายสูงกว่านี้

กลุ่มที่เสียชีวิตมีลักษณะแตกต่างจากผู้ที่ไม่เสียชีวิตหลายประการ คือ 1.เป็นผู้ที่มีอายุมาก อย่างรายที่มีอาการหนัก 17 คน พบว่า ครึ่งหนึ่งอายุเกิน 60 ปี และที่เสียชีวิตอายุเกิน 70 ปี มี 2 คน ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงสูงที่มีอาการรุนแรง คือ 1.ผู้สูงอายุ ต้องดูแลอย่าให้ป่วยหรือรับเชื้อ แต่ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะอยู่บ้านมากกว่าวัยทำงาน คนพาเชื้อเข้าไปคือคนอายุน้อย จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนกลับจาก กทม.และปริมณฑลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องแยกตัวเมื่อกลับไปถึงภูมิลำเนาในต่างจังหวัด เพื่อลดโอกาสถ่ายทอดเชื้อให้คนในบ้านต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติผู้ใหญ่ พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เพื่อลดการป่วย ก็จะไม่เสียชีวิต แต่ถ้าเกิดป่วยในคนอายุมากต้องรีบพบแพทย์ เพื่อให้ข้อมูลและประวัติสัมผัส เช่น อยู่ใกล้ผู้ป่วยยืนยันโควิดก่อนหน้านี้ เดินทางมาจากต่างประเทศ ที่มีรายงานการระบาดอยู่เดิม แพทย์รับข้อมูลจะวินิจฉัยส่งตรวจแล็บให้ตรงกับโรคมากที่สุด

2.ผู้มีโรคประจำตัว โรคที่พบบ่อยช่วงนี้ คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน บางคนเป็นโรคไต มีคนที่รักษามะเร็ง กลุ่มนี้ก็มักมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติทั่วไป ต้องระมัดระวังการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ การติดเชื้ออาจมีอาการป่วยรุนแรงมากกว่าคนไม่มีโรคประจำตัว และคนมีโรคประจำตัวเรื้อรัง มักมากับคนอายุมากขึ้น หากมาทั้ง 2 ปัจจัยโอกาสป่วยรุนแรงเสียชีวิตก็มากขึ้น 

ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมากแล้ว อัตราป่วยตายในผู้สูงอายุจะมากกว่า 10% ส่วนคนอายุน้อยอัตราป่วยตายน้อยกว่า 1% นี่เป็นข้อมูลสำคัญให้เราเอาใจใส่ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว จะได้ช่วยกันปกป้อง ดูแลให้สุขภาพดีไม่ป่วย ไม่เสียชีวิต

รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/rIoPNTc9kvw

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ