พระราชสำนัก

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จพระราชทานเครื่องมือแพทย์ ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา

โดย

2 มี.ค. 2563

373 views

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ ไปพระราชทานเครื่องมือแพทย์ ตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่เรือนจำกลางคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา
วันนี้ เวลา 14 นาฬิกา 19 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ ไปยังเรือนจำกลางคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ในการพระราชทานเครื่องมือแพทย์ ตามโครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ให้กับเรือนจำกลางคลองไผ่, เรือนจำกลางนครราชสีมา, เรือนจำกลางนครพนม และทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา พร้อมทั้ง พระราชทานรถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ และกล้องถ่ายภาพจอประสาทตา แก่โรงพยาบาลปากช่องนานา จังหวัดนครราชสีมา, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี, โรงพยาบาลอุดรธานี และโรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ต้องขัง และประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงริเริ่มด้วยพระเมตตา ด้วยทรงเล็งเห็นว่า แม้จะเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมาย แต่บุคคลเหล่านี้ก็เป็นประชาชนคนไทย ที่ทั้งสองพระองค์ ในฐานะองค์พระประมุขของชาติ ที่ใส่พระทัยดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 ณ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ อันเป็นปฐมฤกษ์ของการดำเนินโครงการฯ โดยมีเป้าหมายพระราชทานเครื่องมือแพทย์ และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ภายในเรือนจำนำร่อง 25 แห่ง และพระราชทานรถเอกซเรย์แก่โรงพยาบาลเขต จำนวน 13 แห่ง 
ในการนี้ ทรงเปิด "มุมสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข" ภายในอาคารพยาบาล ที่มีหนังสือและวีดีทัศน์ ให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้ ในเรื่องการดูแลสุขภาพ จากนั้น ทอดพระเนตรห้องตรวจตา, ห้องทันตกรรม, การสาธิตการช่วยเหลือผู้ป่วย ของ อสรจ.ชาย เป็นการทำงานในลักษณะเชิงป้องกันอย่างเป็นระบบ โดยนำรูปแบบของอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม.มาปรับใช้ มีหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน และถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ต้องขัง ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรม จำนวน 1 พัน 422 คน จากเดิม 859 คน 
ต่อจากนั้น เสด็จไปยังเรือนนอนผู้ต้องขังชายป่วย พระราชทานของแก่ผู้ต้องขังป่วยชาย, ผู้ต้องขังชราและพิการ รวม 21 คน แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการราชทัณฑ์ ปันสุขฯ, นิทรรศการจิตอาสาเราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ของ 4 เรือนจำ 4 โรงพยาบาล
สำหรับการเสด็จแทนพระองค์ ไปยังเรือนจำต่างๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้ต้องขังเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือด เบาหวาน และยังมีโรคอื่นๆ ที่เกิดจากการรับโทษจำคุกเป็นเวลานาน เช่น โรคเครียด, โรคซึมเศร้า, จิตเวช, โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ รวมทั้งภาวะผู้ป่วยติดเตียง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จึงรับสั่งให้มีการเพิ่มหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยติดเตียง, การทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น, การทำกิจกรรมสันทนาการ เพื่อลดความกังวลใจ และลดความเครียด 
การเสด็จเรือนจำกลางคลองไผ่วันนี้ ถือเป็นเรือนจำเป้าหมาย แห่งที่ 14 ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนด ปัจจุบัน มีผู้ต้องขัง 4 พัน 620 คน ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 97 คน, เรือนจำกลางนครราชสีมา มีผู้ต้องขัง 3 พัน 484 คน ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 267 คน, เรือนจำกลางนครพนม มีผู้ต้องขัง 4 พัน 409 คน ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 276 คน และทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา มีผู้ต้องขัง 2 พัน 593 คน ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 354 คน
เวลา 16 นาฬิกา 59 นาที เสด็จยังโรงพยาบาลปากช่องนานา อำเภอปากช่อง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย ของเรือนจำกลางคลองไผ่ ทรงเปิดโซน "ปันสุข" ภายในหอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย เป็นโซนที่โรงพยาบาลจัดสรรไว้สำหรับควบคุม ดูแลผู้ต้องขังป่วย ที่ไม่สามารถรักษาในเรือนจำได้ และต้องส่งออกมารักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากอาจป่วยหนักเกินศักยภาพของสถานพยาบาลในเรือนจำ อาทิ การผ่าตัด, การให้ยารักษามะเร็ง 
โอกาสนี้ พระราชทานถุงพระราชทาน แก่ผู้ต้องขังป่วย 2 คน แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการการแบ่งโซน "ปันสุข" ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้หารือกับผู้บัญชาการเรือนจำ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย โดยมีโซนที่ควบคุม และดูแลผู้ต้องขังอยู่ 2 แห่ง คือ ตึกอายุรกรรม จำนวน 3 เตียง และตึกศัลยกรรม จำนวน 3 เตียง เมื่อผู้ต้องขังลงจากรถ จะสวมหน้ากากอนามัยปกปิดใบหน้า เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ต้องขัง และคลุมผ้าบริเวณโซ่ตรวน แล้วเข้ารับการคัดกรองตามระบบ เพื่อประเมินเบื้องต้น ว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรือไม่ กรณีผู้ต้องขังป่วยฉุกเฉิน จะได้จัดสรรเตียงปันสุขให้ 
จากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2562 มีผู้ต้องขังป่วยเข้ารับบริการ จำนวน 293 คน ช่วยลดกำลังของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในการเฝ้าดูแลผู้ต้องขังตลอดการรักษา รวมทั้งป้องกันผู้ต้องขังหลบหนี เป็นการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังทุกคน เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็น ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนในช่วงที่ไม่มีผู้ต้องขังป่วยมารักษา และมีประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก โรงพยาบาลจะเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้บริการประชาชนตามปกติ
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังอาคารหนึ่งร้อยปีสาธารณสุข ทอดพระเนตรการสาธิตการตรวจรักษาผู้ต้องขังป่วย ด้วยวิธี Telemedicine หรือระบบการแพทย์ทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยโรงพยาบาลปากช่องนานา เป็นโรงพยาบาลแห่งแรก ที่ใช้ระบบนี้สำหรับผู้ต้องขัง ซึ่งสามารถวินิจฉัยและรักษาโรคจิตเภท, โรคซึมเศร้า,โรคเครียด,โรคติดสุราและยาเสพติด โดยมีจิตแพทย์ คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการลดความเสี่ยงการนำผู้ต้องขังออกจากเรือนจำ, ลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดระยะเวลาการรอพบแพทย์

แท็กที่เกี่ยวข้อง