พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา และเชียงราย

โดย

24 ก.พ. 2563

273 views

สมเด็จพระกนิษฐษาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยาประจำปีการศึกษา 2561
วันนี้เวลา 9 นาฬิกา 44 นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปหอประชุมพญางำเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ในการพระราชปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยพะเยา ประจำปีการศึกษา 2561
ในการนี้ได้พระราชทาน ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา แด่พระสงฆ์ จำนวน 1 รูป และพระราชทานปริญญาบัตรแด่พระสงฆ์ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 8 รูป จากนั้นได้พระราชทานโล่รางวัลอาจารย์ดีเด่น และโล่รางวัลนักวิจัยดีเด่น ตามลำดับ เสร็จแล้วได้พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี รวมทั้งสิ้น 4 พัน 224 คน
โอกาสนี้ ได้พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ในการทำงานนั้น โดยปรกติก็คงจะมีอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นบ้าง จึงมิใช่เรื่องที่บัณฑิตจะต้องหวั่นไหวย่อท้อ หรือเคร่งเครียดกังวลจนเกินไป เมื่อต้องเผชิญอุปสรรคปัญหา ชอบที่แต่ละคนจะมีสติตั้งมั่นไว้ รับรู้ปัญหานั้นด้วยใจที่เข้มแข็ง  พิจารณาปัญหาด้วยหลักวิชาและเหตุผล แล้วนำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้แก้ปัญหาให้ถูกตรง โดยยึดหลักสามัคคีธรรม ซึ่งมุ่งเน้นการประสานประโยชน์ของทุกคนทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง ถ้าทำได้ดังนี้แต่ละคนก็จะผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา และสามารถภูมิใจได้เต็มที่ว่า ได้ประสบความสำเร็จแล้วอีกขั้นหนึ่ง คือความสำเร็จในการปฏิบัติงานให้สัมฤทธิ์ผลโดยราบรื่น อันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตน แก่ส่วนรวม และแก่ประเทศชาติ”
ต่อมาเวลา 14 นาฬิกา 19 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือ ปวง ธัมมะปัญญะมหาเถร อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ณ เมรุชั่วคราว วัดศรีโคมคำ ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งมรณะภาพด้วยติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 สิริอายุ 102 ปี พรรษา 82 
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ หรือ หลวงพ่อปวง ธัมมะปัญญะมหาเถร มีชื่อเดิมว่า ปวง วงศ์เรือง เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2460 ที่จังหวัดพะเยา บิดาชื่อ นายปุ๊ด มารดาชื่อ นางหลวง วงศ์เรือง สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา เมื่ออายุครบ 21 ปีได้อุปสมบทที่วัดสางเหนือ อำเภอเมืองพะเยา และใช้เวลาว่างจากภาระกิจสงฆ์เรียนพุทธศาสนาแผนกธรรมสามารถสอบได้ถึงนักธรรมโท แล้วศึกษาต่อระดับพระปริยัติธรรมสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค มีความรู้ความสามารถแตกฉานในการอ่านเขียนภาษาล้านนา ,การออกแบบแปลนอุโบสถ กุฏิ วิหารแบบล้านนา รวมถึงประวัติศาสตร์และโบราณคดีล้านนา จึงเป็นครูสอนพุทธศาสนาที่โรงเรียนวัดสาง และสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเมืองชุม จวบจนเป็นรองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตพะเยา และเป็นประธานสภา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ วิทยาเขตพะเยา ตามลำดับ 
นอกจากนี้ ยังได้แสดงแสดงพระธรรมเทศนา โดยปฏิภาณโวหารแก่อุบาสกอุบาสิกาทุกวันพระ,เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนามหาชาติชาดก และเป็นผู้ให้โอวาทแก่พุทธบริษัทที่มาร่วมในวันสำคัญทางศาสนา เป็นประจำ ด้านหน้าที่การปกครอง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองชุม, เจ้าอาวาสวัดศรีอุโมงค์คำ และเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ, เจ้าคณะจังหวัดพะเยา, รองเจ้าคณะภาค 6 และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 อีกทั้งยังเป็นพระนักพัฒนา โดยซ่อมแซม และก่อสร้างกุฏิ วิหาร และพระอุโบสถวัดศรีโคมคำ และวัดต่างๆ ไปจนถึงได้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ทั้งมีผลงานปริวรรตและเขียนหนังสือประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วไปถึงประวัติ และตำนานต่างๆของเมืองพะเยา และได้เก็บรวบรวมรักษาวัตถุโบราณ ประติมากรรม ศิลปวัตถุ ศิลาจารึก และตำรา คัมภีร์ใบลาน และสมุดข่อย อันเป็นมรดกล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ต่อชนรุนหลังได้ศึกษา ด้วยเป็นพระเถร ที่มีพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวาง 
ตลอดจนมีผลงานดีเด่นทั้งด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณร และให้การสงเคราะห์ จนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธุชนทั่วไป จึงได้รับการยกย่อง และได้รับประกาศเกียรติคุณต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาต่างๆจากมหาวทยาลัยต่างๆ , ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติในโครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ,ได้รับเข็มและโล่ประกาศเกียรติคุณ ผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น โดย
ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์
เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวิมลโมลี ศรีกิตติโสภณ โกศลพิพิธกิจจานุกิจ วิจิตธรรมธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาคาราม คามวาสี และได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ญาณวิสุทธิจริยาปริณายก ดิลกศีลาทิขันธสุนทร บวรธรรมภาณี สาธุการีธรรมากร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
เวลา 17 นาฬิกา 21 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการตำรวจพันธุ์ดี หมู่ 6 บ้านหัวดอย ตำบลท่าสาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งตำรวจภูธรภาค 5 สนองพระราชดำริในการดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ 2562 โดยมอบหมายให้ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายดำเนินงานเป็นแห่งแรก เพื่อเป็นโครงการต้นแบบของตำรวจภูธรภาค 5 เป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับข้าราชการตำรวจที่ใกล้ปลดเกษียณ และเพื่อนำไปขยายผลให้กับชุมชนท้องถิ่น
โดยจัดส่งข้าราชการตำรวจ 12 นาย เข้าฝึกอบรมการปลูกพืชผัก การเพาะและเก็บเมล็ดพันธุ์ผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ก่อนนำความรู้มาประยุกต์ใช้ โดยมีศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ เป็นพี่เลี้ยง มีพื้นที่ดำเนินโครงการ 30 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แบ่งพื้นที่ดำเนินงาน 7 โซน ได้แก่ พลับพลาทรงงาน , บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง , พืชผักสวนครัว ล้อมรั้วกินได้ , พืชยืนต้นกินได้ , ศูนย์ทำน้ำหมักชีวภาพ , บ้านไก่อารมณ์ดี , เลี้ยงปลาดุกและเลี้ยงกบ
ที่ผ่านมา โครงการฯ ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำ เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่โครงการฯ จึงดำเนินการขุดสระน้ำและเจาะบ่อบาดาล แต่ยังไม่เพียงพอ โดยกรมชลประทานได้เข้ามาปรับปรุงสระเก็บน้ำเดิมภายในโครงการฯ 6 แห่ง ทำให้มีปริมาตรความจุรวม 40,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงระบบส่งน้ำ ความยาวรวม 200 เมตร เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือในโครงการฯ โดยมีการเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน และปลาบ้าในสระน้ำด้วย
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ อาทิ บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และการปลูกผักจากเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน ซึ่งเดิมดินในพื้นที่โครงการฯ มีสภาพเป็นดินลูกรัง มีปัญหาดินเสื่อมโทรม และไม่มีธาตุอาหาร โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาตรวจสอบสถาพดินและปรับปรุงดินให้สามารถเพาะปลูกพืชได้ ส่งผลให้พืชผักเจริญเติบโตงอกงามดี มีผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน อาทิ บวบงู , ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธ์ , น้ำเต้า และชมจันทร์
นอกจากนี้ มีการดำเนินกิจกรรมเลี้ยงปลาดุกและกบในบ่อพาสติก ซึ่งทำได้ง่ายในพื้นที่จำกัด เพื่อสร้างแหล่งโปรตีนในครัวเรือน และมีกิจกรรมน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งทำน้ำหมักสูตรต่างๆ เพื่อใช้ในโครงการ เช่น น้ำหมักไล่แมลง น้ำหมักหน่อกล้วย และน้ำหมักหัวปลา เพื่อใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดแมลงและปุ๋ยเคมีบำรุงพืชผัก โดยในอนาคตจะมีการขยายผลองค์ความรู้สู่ชุมชนบ้านหัวดอย พื้นที่ 12 ไร่ เนื่องจากชุมชนเห็นความเปลี่ยนแปลงของการดำเนินโครงการฯ ที่สามารถพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งให้กลับมาเขียวขจีได้ และตำรวจภูธรภาค 5 จะขยายผลโครงการฯ สู่ตำรวจภูธรอีก 7 จังหวัดในสังกัดตำรวจภูธรภาค 5 ต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง