ต่างประเทศ

อังกฤษจ่อเปลี่ยนกฎหมายแรงงานต่างชาติ หวังลดจำนวนผู้อพยพและแรงงานไร้ฝีมือ

โดย

20 ก.พ. 2563

758 views

หลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ เมื่อ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา และช่วงนี้ก็ยังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งรัฐบาลจะใช้โอกาสนี้เริ่มพิจารณากฎหมายต่างๆ ตามไปด้วย โดยเฉพาะกฎหมายแรงงานต่างชาติ เพื่อปรับลดจำนวนผู้อพยพและแรงงานไร้ฝีมือ
ล่าสุด นางพริตี้ เพเทล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้ให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า รัฐบาลกำลังเตรียมที่จะเปลี่ยนกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ เป็นการกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติ โดยแรงงานที่มีทักษะค่อนข้างต่ำจะไม่ได้รับวีซ่า และไม่อนุญาตให้ทำงานภายในประเทศ
ส่วนแรงงานที่ได้รับวีซ่าจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ เช่น ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ และได้รับการเสนองานจากสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล รวมไปถึงเป็นงานที่ตรงกับทักษะของตัวเองด้วย ซึ่งรัฐบาลจะใช้ Point System หรือ ระบบคะแนน เข้ามาช่วยในการคัดกรองแรงงาน ซึ่งจะมีอย่างน้อย 70 คะแนน กล่าวคือ ถ้าพูดภาษาอังกฤษได้ จะได้ไป 10 คะแนน ถ้าได้รับการเสนองานที่ตรงตามทักษะ จะได้ไปอีก 40 คะแนน 
และสำหรับแรงงานที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงาน จะได้รับ 10 คะแนน แต่ถ้าจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก และอยู่ในสาขาวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ก็จะได้รับคะแนนสูงเป็นพิเศษ คือเพิ่มเป็น 20 คะแนน
กฎหมายแรงงานฉบับนี้จะทำให้ชาวยุโรปซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในอังกฤษกว่า 3 ล้านคน หรือชาติอื่นๆ ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาทำงานในอังกฤษ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมมากขึ้น หลังจากสิ้นสุดการเปลี่ยนผ่านของกระบวนการเบร็กซิต ในวันที่ 31 ธ.ค. 63
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ออกกฎหมายในลักษณะนี้ออกมา ทางรัฐบาลเผยว่า มีจุดประสงค์ต้องการคัดกรองและลดจำนวนแรงงานที่ไร้ศักยภาพ รวมไปถึงจะนวนของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศด้วย และเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ หันมาฝึกฝนพนักงานชาวอังกฤษมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีอัตโนมัติให้มีบทบาทมากขึ้น แทนที่จะไปพึ่งพาแรงงานต้นทุนต่ำจากยุโรปและประเทศอื่นๆ 
ในส่วนของค่าแรงขึ้นต่ำจะลดลง สำหรับพนักงานที่มีทักษะและต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในอังกฤษ จาก 30,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.2 บาท เหลือ 25,600 ปอนด์ หรือราว 1 ล้านบาทต่อปี และเกณฑ์เงินเดือนก็อาจจะต่ำลงไปด้วย ถึง 20,480 ปอนด์ หรือราว 820,000 บาท ในสาขาอาชีพพยาบาล วิศวกรโยธา นักจิตวิทยา และนักเต้นบัลเลต์คลาสสิค หรือแม้กระทั่งผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาเอก
อย่างไรก้ตาม รัฐบาลจะไม่มีการจำกัดจำนวนแรงงานที่มีทักษะที่ต้องการจะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ และภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ ก็จะเป็นการสิ้นสุดแรงงานราคาถูกและไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานเหล่านี้ จนอาจสร้างผลกระทบ โดยอาจมีการปิดตัวโรงงานหรือธุรกิจสำคัญๆ ก็เป็นได้ 
ด้านนายไนเจล ฟาราจ ผู้นำพรรคเบร็กซิต ให้สัมภาษณ์ว่านโยบายใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็เตือนว่าอาจส่งผลกระทบทำให้ผู้อพยพนอกยุโรปเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ในขณะที่พรรคการเมืองพรรคแรงงาน และเป็นฝ่ายค้าน ได้ออกมาตำหนินโยบายดังกล่าว โดยระบุว่ากฎหมายเข้าเมืองฉบับใหม่จะสร้างข้อจำกัดให้กับแรงงานที่มีค่าจ้างขั้นต่ำมากจนเกินไป ซึ่งในภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจบางอย่าง ยังต้องพึ่งพาแรงงานเหล่านี้อยู่  เช่น ภาคบริการสังคม เป็นต้น
ด้านนางไดแอน แอ็บบอท ระบุว่า การปรับลดจำนวนคนเข้าเมือง เป็นการเมืองแบบ Dog Whistle Politics ซึ่งเป้นวิธีการที่มีความหมายอื่นแอบแฝงไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ พร้อมกับย้ำว่าการโบนปัญหาให้กับคนที่เข้าเมืองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลควรทำ
ส่วนด้านผู้ประกอบการธุรกิจ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องจากแผนของรัฐบาลจะส่งผลต่อธุรกิจของพวกเขาโดยตรง อย่างนายคาริม ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการของ United Corporation เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคในเมือง Wallington ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากถึง 25% ก็มีการระบุว่าการหาแรงงานชาวอังกฤษนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องมาจากเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำที่ชาวอังกฤษมักไม่ให้ความสนใจ 
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของเบร็กซิตก็ทำให้บริษัทต่างชาติ หันไปเปิดบริษัทในเนเธอร์แลนด์มากขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มมีการลงประชามติเกี่ยวกับเบร็กซิต มีธุรกิจต่างชาติเข้ามาเปิดบริษัทในเนเธอร์แลนด์แล้วอย่างน้อย 140 ราย และตามรายงานของสำนักการลงทุนต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ยังได้ระบุว่า แม้สหราชอาณาจักรจะออกจาก EU แล้ว แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของข้อตกลงทางการค้าที่ยังไม่ได้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรม 
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า บริษัทต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการเจรจา มีอยู่ 425 แห่ง ที่ต้องการจะย้ายไปที่เนเธอร์แลนด์ มีทั้งจากทางสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเอเชียด้วย 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ