ต่างประเทศ

ถอดบทเรียนความปลอดภัยทางถนนที่ญี่ปุ่น

โดย

17 ก.พ. 2563

1K views

ในปี 2018 องค์การอนามัยโลก จัดทำสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เเละพบว่า "ไทย" คือประเทศที่มีตัวเลขอุบัติเหตุ เเละเสียชีวิตมากที่สุด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ข่าว 3 มิติ คืนนี้ จะพาไปรู้จักกับสถาบันวิจัยความปลอดภัยทางถนนที่ญี่ปุ่น เเละไปดูตัวอย่างการใช้รถใช้ถนนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความมีระเบียบวินัย เเละความปลอดภัยบนท้องถนน
ที่นี่คือสถาบันวิจัยความปลอดภัยทางถนน หรือ อิทาด้า เป็นหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ ที่เยาวชนไทยในโครงการถนนสีขาว ของโตโยต้า มาศึกษาดูงาน เพื่อเป็นเเรงบันดาลใจ นำกลับไปปรับใช้ พัฒนาต่อยอดโครงการในรั้วมหาวิทยาลัย 
ทุก 23 วินาที ทั่วโลกจะมีคนตายจากอุบัติเหตุ เป็นตัวเลขที่สถาบันอิทาด้า อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก เป็นคำถามที่น่าสนใจ เมื่อทีมงานอิทาด้า ถามเยาวชนไทยทั้ง 12 คน ประเทศอะไรที่มีสถิติการตายเเละอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เดาไม่ผิด เพราะคำตอบคือ ประเทศไทย 
อิทาด้า ก่อตั้งในปี 1992 โดยสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ เเละสมาคมผู้ผลิตยานยนต์ พันธกิจหลัก คือการศึกษาวิจัย วิเคราะห์อุบัติเหตุ เพื่อจัดทำเเผนรับมือ ปรับปรุง เเละพัฒนา โดยมุ่งหวังว่า ตัวเลขการเสียชีวิตเเละจำนวนอุบัติเหตุทางถนนจะลดลง 
นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน บอกว่า ในอดีตญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากไทย มีอัตราการบาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งผู้ขับขี่ สภาพรถ เเละสภาพถนน ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยอันดับหนึ่ง ซึ่งมากถึงร้อยละ 96.4 มาจากคน 
อิทาด้า มีส่วนสำคัญอย่างมาก ที่ช่วยให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง พวกเขาบอกว่า หลาย ๆ กรณีบนท้องถนน จะมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลนำกลับมาวิเคราะห์ ทำให้รู้ถึงปัญหาที่เเท้จริง ปัจจุบันได้นำเอาเทคโนโลยี สเเกนเนอร์ 3 มิติเข้ามาใช้ ทำให้ได้เห็นภาพในทุกด้านทุกมุมอย่างละเอียด เมื่อรู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ก็จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างตำรวจ เทศบาล หรือผู้พัฒนายานยนต์ นำไปปรับปรุง เพื่อไม่เกิดซ้ำ หรือลดอัตราความเสี่ยงลง เช่น ถ้าเกืดจากผิวถนน หรือ เกิดจากเส้นจราจรไม่ชัด สัญญาณไฟมีปัญหา โค้งไม่รับ จะประสานเข้าเเก้ไขทันที
ที่ญี่ปุ่น จะเห็นว่าสภาพถนน ทั้งในตัวเมืองอย่างโตเกียว หรือเเม้เเต่ในจังหวัดที่ห่างออกไป เราเเทบจะไม่เห็นรอยขรุขระ เส้นถนนขีดชัด เเละที่น่าสนใจก็คือ วินัยการใช้รถใช้ถนนทั้งผู้ขับขี่เเละคนเดิน คำนึงถึงความปลอดภัยเสมอ เราจึงได้เห็นทางม้าลาย กระจายอยู่ตามซอกซอยเเละบนถนนหลัก เเม้ไม่มีรถผู้คนก็จะหยุดรอจนกว่าสัญญาณไฟเขียวให้เดินข้าม เช่นเดียวกับรถยนต์ เมื่อเห็นทางม้าลายจะชลอความเร็ว หยุดรอตามสัญญาณไฟ 
นักวิขาการอิทาด้า วิเคราะห์ว่า เหตุที่ไทยติดอันดับโลก ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะทางกายภาพ ซึ่งเเตกต่างกัน ด้วยอากาศร้อน ผู้คนเร่งรีบ ตัวเลขที่มาก หลักๆ มาจากผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ต่างจากญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รถยนต์ เเละจักรยาน 
ในเเต่ละปี อิทาด้า จะมีการายงานผลทางวิชาการต่อสาธารณะ นั่นทำให้คนญี่ปุ่นรู้ว่า ในปีที่ผ่านมา อุบัติเหตที่ทำให้มีคนเจ็บตาย มาจากอะไร นำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อก้าวสู่เป้าหมายเดียวกันในอนาคตคือ อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ