พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

โดย

17 ก.พ. 2563

813 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
วันนี้ เวลา 9 นาฬิกา 58 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุราษฎร์ธานี อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทรงเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 41 ปีการศึกษา 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 ถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้สมาชิกองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยฯ ได้แสดงผลงานทักษะวิชาชีพ แลกเปลี่ยนความรู้ และส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการทำงานเป็นทีม ฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี 
โอกาสนี้ทอดพระเนตรนิทรรศการ เมืองเทิดพระเกียรติ จัดแสดงเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ผลงานของนักศึกษาที่เป็นสมาชิกฯ เช่น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช "หมากพลูตั๊กแตน" และ"กันเกรา" ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล และงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแพรคลุมป้าย "อาคารทูลกระหม่อมแก้ว อกท." ที่สร้างขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นอาคาร 2 ชั้น สำหรับจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ด้านต่างๆ เช่น โครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, โครงการอาหารกลางวันเพื่อเด็ก และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง  
ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปอาคารสัมมนาผลงานวิชาการ ทรงฟังบรรยายผลงานทางวิชาการ "โครงการเลี้ยงเพรียงทราย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ผลงานทางวิชาการของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี จากการวิจัยพบว่า เพรียงทรายเป็นอาหารสดที่สำคัญ ต่อการผลิตลูกกุ้งทะเล เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่งผลให้กุ้งทะเลมีไข่ดก มีคุณภาพดี การเลี้ยงเพียงทรายด้วยน้ำทะเลธรรมชาติ ที่ระดับความเค็ม 30 พีพีที (PPT) ที่ผ่านการบำบัดด้วยคลอรีน จะช่วยให้เพียงทรายมีอัตราการรอดกว่าร้อยละ 80 ได้ผลผลิตเพียงทรายสด 25 กิโลกรัม มีรายได้ 1 หมื่น 3 พัน 959 บาท ซึ่งสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ และต่อยอดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเพียงทราย เพื่อเพิ่มมูลค่า 
 จากนั้น เวลา 14 นาฬิกา 25 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประกอบด้วย 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ โดยสร้างฝายชะลอน้ำแล้วเสร็จ 150 แห่ง และจะสร้างเพิ่มให้ครบ 170 แห่ง ภายในปี 2564 การส่งเสริมให้ปลูกป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งจะฟื้นฟูตามเป้าหมาย 7 พัน 450 ไร่ ภายในปีเดียวกัน และการฟื้นฟูป่าชายเลน ในพื้นที่ 3 พัน 150 ไร่ 
ด้านยุทธศาสตร์ควบคุมป้องกันมลพิษ และเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อม ด้วยการแก้ไขปัญหา, ตรวจสอบคุณภาพน้ำแม่น้ำปากพนัง และจัดการระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 6 แห่ง สามารถรองรับน้ำเสียได้ 1 พัน 540 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีแผนสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง กับเทศบาลตำบลชะอวด เพื่อให้น้ำเสียได้รับการบำบัด ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำปากพนัง ทั้งนี้ ลุ่มน้ำปากพนังมีพื้นที่ 1 ล้าน 9 แสน 4 หมื่นไร่ คลอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช, สงขลา และพัทลุง ประสบปัญหาความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ น้ำทะเลรุกล้ำ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซาก และดินเปรี้ยว โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำ และฝายทดน้ำคลองไม้เสียบ เพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ทั้งเป็นแหล่งน้ำใช้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 
ในการนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ และเครือข่ายขยายผล อาทิ การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกส้มโอทับทิมสยาม ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และได้รับการรับรองมาตรฐาน จีเอพี, การส่งเสริมเลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้งร้าง, โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามแนวพระราชดำริ "พี่เลี้ยงน้อง โรงเรียนวัดป่าระกำ" สาธิตการทำเมนูอาหารพระราชทาน "ไข่พระอาทิตย์ และการทำขนมละอองแก้ว เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้นักเรียนสนใจรับประทานอาหารมากขึ้น รวมทั้ง นิทรรศการของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกจาก ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับสำนักงาน กปร., กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนองพระราชดำริ โดยปรับพื้นที่นากุ้งร้างซึ่งเป็นดินเค็ม ด้วยการปลูกป่าจาก ส่งผลให้ระบบนิเวศน์มีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรได้รับประโยชน์ 267 ครัวเรือน 
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ดำเนินการวิจัยโครงการต่างๆ เช่น การวิเคราะห์คุณค่าของน้ำตาลจาก, น้ำส้มจาก เพื่อพัฒนามาตรฐานสินค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม การวิจัยเพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่ส่งเสริมอาชีพ อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ด้วยการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยด, ข้าวหอมกุหลาบแดง, ข้าวเล็บนก, การผลิตเครื่องสำอางจากข้าวพื้นเมือง, การส่งเสริมให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต และเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว 450 ไร่ ภายในปี 2563 ตลอดจน ส่งเสริมการปลูกไม้ผลเชิงเศรษฐกิจ เช่น ส้มโอทับทิมสยาม จากการดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ราษฎรย้ายกลับสู่ภูมิลำเนา เพื่อประกอบอาชีพและใช้ชีวิตกับครอบครัว

แท็กที่เกี่ยวข้อง