สังคม

ถอดบทเรียนการเอาตัวรอดจากเหตุก่อการร้าย 'หนี-ซ่อน-สู้'

โดย

14 ก.พ. 2563

1.4K views

จากเหตุก่อการร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีหน่วยงานใดออกมาถอดบทเรียนถึงวิธีการในการรับมือกับปัญหาต่างๆ เหล่านี้
ล่าสุดคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ศึกษาและจัดทำข้อมูลออกมาให้ความรู้กับประชาชนในการเอาชีวิตรอดจากเหตุก่อการร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยยึดหลักการง่ายๆ เพียง 3 ข้อ คือ หนี ซ่อน และสู้ 
Run Hide and Fight หนี ซ่อน และสู้เป็นหนึ่งในสื่อการเรียนการสอนที่ทาง Ready Houston หน่วยงานด้านความปลอดภัยของเมืองฮุสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งสำหรับคลิปนี้เป็นคลิปเอาตัวรอดจากเหตุกราดยิง หรือ Mass Shooting ที่มักเกิดขึ้นในขณะที่เราไม่รู้ตัว
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อรู้สึกหรือเกิดเหตุการณ์ขึ้น คือ การหนีออกจากบริเวณนั้นให้เร็วที่สุด และควรวิ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับผู้ก่อเหตุ และควรวิ่งซิกแซกหากเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ระหว่างทางบอกคนรอบข้างให้ทราบถึงอันตรายที่เกิดขึ้นด้วยคำที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ซึ่งหากเป็นไปได้ควรหนีออกห่างจากอาคารให้ได้ไกลที่สุด และเมื่ออยู่ในสถานที่ปลอดภัยแล้ว ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
หากหนีไม้พ้น การซ่อน คือทางเลือกในอันดับต่อมา ควรเลือกสถานที่หลบให้มิดชิด มีที่กำบังแน่นหนา เลือกห้องที่ต้องใช้วิธีผลักประตูเข้ามา และใช้ของหนักมากีดขวาง โดยข้อควรระวัง คือ อยู่ให้ห่างจากผนัง เพื่อป้องกันอันตรายจากกระสุนปืน ควรกระจายตัวกันอยู่ภายในห้องเพื่อลดความเสี่ยง ปิดไฟ ปิดเสียงโทรศัพท์ และอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงทุกชนิด รีบติดต่อและรอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งระหว่างนั้นควรตกลงแผนสำรองกันไว้หากคนร้ายบุกเข้ามา
หากจวนตัวจริงๆ การสู้เพื่อเอาชีวิตรอด คือ ทางออกสุดท้าย ซึ่งควรใช้อาวุธจากสิ่งของรอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งช่วยกันสู้เมื่อถึงสถานการณ์คับขันขึ้นจริงๆ โดยไม่หยุดอ้อนวอน ขอร้อง หรือ เจรจา
สอดคล้องกับสิ่งที่คณะแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ร่วมกันศึกษาแนวทางปฏิบัติ เพื่อเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ในลักษณะนี้ โดยได้มีการจัดเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ "Escape and Survive in Mass Shooting" ซึ่งหลักการ หนี ซ่อน สู้ นั้น คือสิ่งที่ใช้กันในหลักสากล
ขณะที่สัญญาณอันตรายที่เราควรสังเกต นั่นคือ เสียงที่ดังผิดปกติ เช่น เสียงปืน เสียงระเบิด หรือ เสียงกรีดร้อง พบเห็นคนเริ่มวิ่งกันวุ่นวายอย่างผิดสังเกต เสียงประกาศเตือน ไฟดับ และ ควันไฟ ซึ่งหากเกิดสัญญาณต่างๆ เหล่านี้ขึ้นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างแรกนั่นคือ การมีสติเพื่อแก้ไขปัญหา และ คอยให้กำลังใจกันและกัน
ขณะที่คณะแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้เสนอให้มีแผนการรับมือสำหรับพื้นที่ชุมชนไว้ โดยเน้นการอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อม เช่น พนักงาน หรือ พนักงานรักษาความปลอดภัย เพราะพวกเขาคือคนที่คุ้นเคยกับสถานที่เป็นอย่างดี ซึ่งจากเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นพบว่าพวกเขาเหล่านี้คือคนที่คอยนำประชาชนที่ประสบเหตุอยู่ด้วยกันให้ได้รับความปลอดภัย แต่สิ่งสำคัญจริงๆ นั่นคือสติ ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีไว้ เพื่อโอกาสในการเอาตัวรอดอย่างปลอดภัยสูงสุด และอย่าลืมจดจำเบอร์โทรฉุกเฉินต่างๆ เช่น 191 และ 1669 ไว้แจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายตลอด 24 ชั่วโมง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ