เลือกตั้งและการเมือง

ศาล รธน.วินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 ไม่โมฆะ แต่ให้โหวตใหม่ หลัง ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน

โดย

7 ก.พ. 2563

3K views

ศาล รธน. พ.ร.บ.งบ 63 ไม่โมฆะ ให้ไปโหวต วาระ 2-3 ใหม่ ชี้ ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ชี้ช่องเอาผิดอาญา ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน
การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อลงมติวินิจฉัย ในคดี ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เข้าชื่อขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่ากระบวนการตราและเนื้อหา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ขัดรัฐธรรมนูญ และ ส่งผลให้ตกเป็นโมฆะหรือไม่ กรณี มี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันในการลงมติ ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อความหรือเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติ และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญา หรือทางจริยธรรมของ ส.ส. มีเพียงประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริตในการออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมนั้น เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่
โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าว เป็นการพิจารณาวาระที่2-3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และนายฉลองยอมรับว่า ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมจริง แต่มีการใช้บัตรลงมติแทนกัน ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม กรณี ไม่ทำให้ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ต้องถูกตีตกทั้งฉบับแบบเดียว กับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มาของ ส.ว. ปี 2556 และ ร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2557 เพราะพฤติการณ์แห่งคดี ครั้งนั้น
แตกต่างจากประเด็น พฤติการณ์ในคดีนี้ คือ
1. คดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
2. คดีนี้มีปัญหาเฉพาะกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น และกระบวนการก่อนลงมติในวาระ2 ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ
3. กรณีนี้มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย
จึงให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะลงมติในวาระที่2และวาระที่3 และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบอีกครั้งพร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย
อย่างไรก็ตามคดีนี้ไม่มีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดทางอาญา หรือความผิดทางจริยธรรม ซึ่งบุคคลจะต้องรับโทษอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ส่วนอีกคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทุกกรณีที่เกี่ยวข้องกับการเสียบบัตรแทนกัน ทั้ง กรณีนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย นางนาที รัชกิจประการ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ ส.ส. รายอื่นๆที่มีเข้าข่ายเสียบบัตรแทนกันด้วยนั้น เห็นว่า เหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเตียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไปในคดีนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีก
ทั้งนี้ มีรายงานว่า จะมีการกำหนดประชุมพิจารณาลงมติวาระ 2-3 ใหม่ในวันที่ 14 ก.พ. นี้ โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะให้ วิปฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลกำหนดวันที่ชัดเจนร่วมกันต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ