สังคม

ชาวบ้าน จ.ร้อยเอ็ด เริ่มเพาะปลูกหลังน้ำลดจากอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 63

โดย

25 ม.ค. 2563

295 views

ที่บ้านโพธิ์ตาก อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งข่าว 3 มิติ เคยไปติดตามความเสียหายจากน้ำท่วมของที่นั่น ในช่วงที่น้ำหลากรุนแรง เพราะเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำยัง กับแม่น้ำชี ตอนนี้น้ำแห้งสนิท และผืนนากว่า 5 พันไร่ กำลังถูกปลูกข้าวนาปรัง ทั้งเพื่อบริโภคและขาย ชดเชยข้าวนาปี ที่เสียหายทั้ง 100 % 
ที่นารวมทั้งหมด 5,230 ไร่ ของเกษตกรบ้านโพธิ์ตาก ตอนนี้ถูกพลิกฟื้นผืนนา เพื่อปลูกข้าวนาปรังไปแล้วกว่า 5,100 ไร่ 
ตามข้อมูลของผู้ใหญ่บ้านโพธิ์ตาก บอกว่าน่าจะยังเหลือที่นา ที่ยังไม่ได้หว่านเมล็ดพันธ์ข้าวอยู่ประมาณ 100 ไร่เศษ เพราะเพิ่งจะปรับเกลี่ยพื้นนา และได้น้ำจากระบบชลประทานของแม่น้ำยังเข้าไปหล่อเลี้ยงนาข้าว
ในยามหน้าแล้งเช่นนี้ แทบจะมองไม่ออกเลยว่า หมู่บ้านนี้ถูกน้ำท่วมหนักจนผู้คนต้องอพยพทั้งหมด และนาข้าวเสียหาย 100 % ได้อย่างไร แต่ระดับน้ำที่เหลืออยู่ใจกลางหมู่บ้านคือหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงระดับน้ำ
และภาพมุมสูง ทำให้เห็นลำน้ำสำคัญในอีสาน คือลำน้ำชี ต้นน้ำจากชัยภูมิ และลำน้ำยังต้นน้ำจากเทือกเขาภูพาน มาบรรจบกันที่นี่ เรียกกันว่าแม่น้ำสองสาย ที่กลายเป็นหนึ่งคือลำชี มุ่งหน้าลงแม่น้ำมูล นั่นทำให้ช่วงฤดูฝนที่แล้ว หมู่บ้านที่ถูกขนาบข้างจากลำน้ำทั้ง 2 สาย เสียหายจากน้ำเอ่อท่วม
ตอนนี้ความเสียหายกำลังถูกชดเชยด้วยข้าวนาปรัง ซึ่งบางส่วนลงมือเพาะปลูกกันแล้ว แต่บางส่วนยังรอเงินทุนหมุนเวียน
ชาวบ้านโพธิ์ตากได้เงินเยียวยาน้ำท่วมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี่คือ แบ่งเป็นเงินเยียวยานาข้าวไร่ละ 1,113 บาท และเงินที่ทำประกันความเสียหายกับ ธกส.ไร่ละ1,260 บาท
เงินเหล่านี้จะถูกนำไปหมุนเวียน เป็นค่าไถนา ค่าเมล็ดพันธ์ ค่าปุ๋ย และค่าน้ำมันสำหรับสูบน้ำเข้าที่นา 
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านต้องติดหนี้ ค่ารถไถ ค่าเมล็ดพันธ์ และค่าน้ำมัน จนทำให้แต่ละคนไม่มีเงินหมุนเวียน เพราะเงินทุนก่อนหน้านี้เสียหายไปกับข้าวนาปี แต่เมื่อได้เงินอุดหนุนเยียวยา ก็พอให้เดินหน้าต่อไปได้บ้าง ยังดีว่าข้าวหลายพันไร่ ที่บ้านโพธิ์ตาก บางส่วนได้รับเมล็ดพันธ์จากภาคเอกชนที่นำมาแจกจ่ายให้เพื่อทดแทนพันธุ์ข้าวที่เสียหาย 
ข้าวนาปรัง เป็นความหวังเดียวของชาวนา หลายหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม และสำหรับบ้านโพธิ์ตาก ยังดีที่มีระบบชลประทาน และการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า โดยเก็บค่าไฟในพื้นที่ใช้น้ำไร่ละ 150 บาท
ซึ่งด้วยค่าใช้จ่ายเท่านี้ กับปริมาณน้ำที่เหลือ ทำให้คาดหวังได้ว่าจะเพียงพอต่อการทำนาในฤดูเพาะปลูกนี้ แต่น้ำจะมากพอสำหรับหล่อเลี้ยงถึงฤดูเก็บเกี่ยวในอีก 3-4 เดือน ข้างหน้าหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ชาวบ้านโพธิ์ตาก ยังต้องรอลุ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ