สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดลพบุรี และจังหวัดนครสวรรค์
วันนี้เวลา 9 นาฬิกา 10 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปกองพลรบพิเศษที่ 1 ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี ทอดพระเนตรการฝึกภาคสนามของนักเรียนนายร้อย ชั้นปีที่ 1 หลักสูตรส่งทางอากาศ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ประจำปีการศึกษา 2562
โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และผู้แทนหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กราบบังคมทูลรายงานการฝึกของนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 3 เป็นการฝึกภาคอากาศ หลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 323 (สามร้อยยี่สิบสาม) เริ่มฝึกตั้งแต่วันที่ 20 ถึง 27 มกราคม 2563 มีนักเรียนนายร้อย เข้ารับการฝึก 226 นาย ทุกนายจะได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆจากสถานีปฏิบัติภาคพื้นดิน เพื่อให้เกิดทักษะ และความปลอดภัยสูงสุด จากนั้นจึงจะฝึกกระโดดร่มแบบตัวเปล่าจำนวน 4 ครั้ง และกระโดดร่มประกอบเครื่องสนามและอาวุธ จำนวน 1 ครั้ง
จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี ทอดพระเนตรการฝึกภาคอากาศ หลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 323 ของนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อทดสอบกำลังใจ สร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้มีทักษะในการบังคับร่มลงสู่พื้นได้ถูกต้องและปลอดภัย ให้เกิดความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ และมีความแข็งแกร่ง อดทนต่อความยากลำบาก ให้สมกับที่จะเป็นผู้นำหน่วยทหารในอนาคตมีสถานีการปฏิบัติบนอากาศยาน (เครื่องบินจำลอง) : ผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้ขั้นตอนการบรรทุกอากาศยาน ขั้นตอนการปฏิบัติบนอากาศยานไปจนถึงการกระโดดออกจากประตูอากาศยาน รวมทั้งให้ทราบคุณลักษณะและขีดความสามารถของอากาศยานประเภทต่างๆ
กรณี ใช้ร่มสำรอง หรือร่มช่วย จะใช้เมื่อร่มหลักไม่กางหรือร่มติดขัด เมื่อนักโดดกระโดดออกจากอากาศยานภายใน 4 วินาที จะต้องเงยหน้าขึ้นไปตรวจการกางของร่ม หากพบเหตุผิดปกติ ร่มกางไม่สมบูรณ์ ร่มติดขัด หรือร่มไม่กาง นักโดดจะต้องดึงห่วงดึงร่มช่วยซึ่งอยู่ทางขวามือของนักโดด ก่อนลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย สถานีกระโดดหอสูง 34 ฟุต : เป็นการฝึกจัดร่างกายก่อนและขณะกระโดดออกจากประตูของอากาศยาน นักโดดต้องจัดร่างกายให้ลำตัวท่อนบนกับขาทำมุมเป็นรูปตัว L เพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ และปฏิบัติตามขั้นตอนการกระโดด 8 ขั้นตอน คือ โดดไกล ก้มคอ ตาลืม ปากนับ กระชับศอก มือกุมร่มช่วย บีบเข่า เท้าชิดสถานีบังคับร่ม
ผู้เข้ารับการฝึกจะได้เรียนรู้เรื่องกระแสลม เพื่อบังคับร่มได้ถูกต้อง และลงสู่ที่หมายอย่างปลอดภัย ต้องปฏิบัติตามกฎนิรภัย 5 ประการ คือ ตรวจร่มเพื่อให้ทราบว่าร่มกางปกติหรือไม่ , มองรอบตัวเพื่อให้รู้ระยะห่างของร่มแต่ละร่ม , ดูสนามโดดและทิศทางลมเพื่อจะได้รู้ว่าอยู่บริเวณใดของสนามโดด , ดูกรวยลมประกอบการบังคับร่ม นักโดดต้องหันหน้าทวนลมเสมอ เพราะถ้าหันตามลม ร่มจะวิ่งเร็ว เวลาลงพื้นอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้ยังจะฝึกแก้ปัญหาเหตุการณ์ต่างๆ เช่น กรณีร่มตีเกลียว นักโดดจะต้องแก้เกลียวด้วยการกางแขนและขาออกกว้างๆ พร้อมกับเหวี่ยงขาและบิดตัวไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับเกลียวจนกว่าเกลียวจะคลายออกจนหมด
กรณีร่มวิ่งเข้ามาใกล้กัน อาจทำให้นักโดดชน กระแทกกัน หรือร่มพันกันได้ นัดโดต้องบังคับร่มให้ห่างออกจากกัน ตามที่ได้นัดหมายกันไว้ คือ ร่มบนดึงหนีร่มล่าง ถ้าร่มอยู่ในระดับเดียวกันและวิ่งเข้าหากัน นักโดดต้องดึงสายบังคับด้านขวาของตัวเองเพื่อเลี้ยวหนีออกจากกัน สถานีการลงพื้นจากแท่นสูง 2 ฟุต และ 4 ฟุต เป็นการฝึกให้ลงพื้นดินอย่างปลอดภัย ใช้จุดสัมผัสทั้งห้าจุดสัมผัสพื้นตามลำดับ ช่วยลดแรงกระแทก เริ่มจากฝ่าเท้าทั้งสองข้างสัมผัสพื้นพร้อมกันในลักษณะเรียงชิดติดกัน ถัดไปคือกล้ามเนื้อขาท่อนล่างด้านข้าง, กล้ามเนื้อขาท่อนบน, กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อแผ่นหลัง
สถานีรอกวิ่ง : เป็นการฝึกให้เกิดความชำนาญในการลงพื้น อย่างถูกต้อง และปลอดภัย การเตรียมตัวลงพื้นมี 2 ขั้นตอน คือ การเตรียมตัวลงพื้น 70 เปอร์เซ็น นักโดดต้องมองซ้าย-มองขวา ดูสนามลงพื้น และการเตรียมตัวลงพื้น 100 เปอร์เซ็น นักโดด จะต้องรวบสายบังคับมาที่กำบังหมวก ล็อกศรีษะและบีบสามจุด คือ หัวเข่า ส้นเท้า และปลายเท้า เพื่อเตรียมตัวลงพื้นอย่างปลอดภัย
ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปสนามกระโดดร่มบ้านท่าเดื่อ ทอดพระเนตรการฝึกการกระโดดร่มจากอากาศยาน วันนี้ เป็นการกระโดดร่มครั้งที่ 3 ของการฝึกภาคอากาศ นักเรียนนายร้อย จะทำการโดดจากอากาศยานเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 (สองเก้าห้า) ของกองทัพบก ที่ระดับความสูง 1,250 ฟิต ใช้ร่มแบบ MC 1-1 C (เอ็มซี วัน แดช วัน ซี) เวลาในการกระโดดต่อ 1 นาย คือ 1 นาที 30 วินาที จุดส่งลง คือ สนามกระโดดร่มบ้านท่าเดื่อตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติบนอากาศยาน ผู้ควบคุมการกระโดดจะแจ้งเตือนเวลาให้กับนักโดดก่อนที่อากาศยานจะถึงจุดปล่อย 6 นาที ก่อนถึงจุดปล่อย 1 นาที และ 30 วินาที หลังจากนั้นจะออกคำสั่ง ยืนประตู หรือ (Stand By) นักโดดจะส่งขอสับสายดึงประจำที่ให้กับผู้ช่วยผู้ควบคุมการกระโดด แล้วเคลื่อนที่มายืนที่ท้ายแรมป์ในตำแหน่งที่พร้อมโดด เมื่อถึงจุดปล่อย ผู้ควบคุมการกระโดด จะสั่งนักโดด โดดออกจากอากาศยานวันนี้ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และพลโทภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เข้าร่วมการฝึกกับ นักโดดอีก 30 นาย เครื่องบินลำเลียงจะทำการบินผ่านสนามโดดจากทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันตก
ในรอบแรก จะทำการปล่อยนักโดด 15 นาย เป็นการกระโดดออกจากอากาศยานทางประตูด้านท้าย หรือ แรมป์ของอากาศยาน แต่ละนาย จะปล่อยห่างกันประมาณ 1 วินาที จากนั้นอากาศยาน จะบินทำวงจรการบินเพื่อปล่อยนักโดดในรอบที่ 2 อีก 15 นาย เมื่อนักโดดลงถึงพื้นเรียบร้อยแล้ว นักโดดจะทำการถอดร่มออกจากตัว และเก็บร่มใส่ถุงบรรจุร่ม หลังจากนั้นจะไปรายงานตัวยังตำบลรับรายงานตัวเพื่อสำรวจยอด และปฏิบัติภารกิจอื่นๆ
ต่อมาเวลา 13 นาฬิกา 31 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลหนองหม้อ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ทรงติดตามผลการพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นแบบอย่างการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่จำกัด ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ
หลังจาก ทรงฟังการบรรยายสรุปถึงผลการดำเนินงานต่างๆแล้ว ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งโครงการพัฒนาที่ดินฯดังกล่าวนี้ เป็นที่ดินของ นายชัยยศ ตันติวสุธา อ่านว่า ตัน ติ วะ สุ ธา ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 27 ไร่ 3 งาน
ในปี 2546 มูลนิธิชัยพัฒนา ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแบบอย่างการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้แก่เกษตรกร ด้วยประชาชนตำบลหนองหม้อ มี 7 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา โดยเช่าพื้นที่ หลังการเก็บเกี่ยวไม่มีอาชีพอื่นรองรับ จึงต้องออกไปรับจ้างยังที่อื่น
ในการดำเนินโครงการ ได้จัดทำแปลงสาธิตการบริหารจัดการที่ดินและน้ำสำหรับการทำการเกษตรที่มีที่ดินขนาดเล็ก ในเขตให้บริการของชลประทาน ควบคู่ไปกับการปลูกพืชผัก ไม้ผล พืชไร่และข้าว เป็นการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร , ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ
ภายในโครงการฯ ได้แบ่งพื้นที่ดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จัดทำแปลงเกษตรทฤษฏีใหม่ ในเขตชลประทาน มีการ ขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร และเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาทับทิบ และปลายี่สก รอบสระน้ำ ส่วนที่คันนา ได้ปลูกต้นมะพร้าว แคบ้าน เพื่อสร้างรายได้เสริม และปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน,จัดทำแปลงสาธิตการทำนา หลังการเก็บเกี่ยว มีการปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ถั่ว และปอเทือง แล้วปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อสร้างรายได้เสริมระหว่างการทำนาในครั้งต่อไป , จัดทำแปลงไม้ผล ไม่ดอก พืชไร่ และพืชสมุนไพร เช่น กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง มะกอกน้ำ กระท้อน และมะม่วง
และจัดทำที่อยู่อาศัย โดยก่อสร้างโรงเรือน อาคารแปรรูป และสำนักงาน พื้นที่โดยรอบได้ปลูกพืชผักกินใบและพืชกินผล เช่น คะน้า ผักกาดขาว ผักกาดเขียว กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน บวบ ถั่วฝักยาว พริก และมะเขือ สลับหมุนเวียนตามความเหมาะสม และส่วนที่ 2 เป็นแปลงสาธิตการปลูกข้าว ตามหลักเกษตรดีที่เหมาะสม แบบใช้ต้นทุนต่ำ โดยปลูกข้าวนาปรัง แบบวิธีหว่านน้ำตมใช้พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 เพื่อเป็นตัวอย่างในการปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีโรงสีข้าว และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงจัดกิจกรรมการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการเกษตร การผลิตปุ๋ยชีวภาพ และจัดฝึกอบรมหลักสูตรอาชีพระยะสั้นต่างๆ การดำเนินงานที่ผ่านมา มีผลการพัฒนาดีทุกด้าน ทำให้มีผลผลิตการเกษตรมากขึ้น ทั้งบริโภค การจำหน่าย และการแปรรูป สร้างรายได้ตลอดทั้งปี จึงมีเกษตรกร และผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดน้ำใช้ในการเกษตร ในช่วงหน้าแล้ง จึงมีพระราชดำริให้ กรมชลประทานเข้าไปสนับสนุนแหล่งน้ำในการเกษตรและการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนในพื้นที่
เวลา 15 นาฬิกา 19 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด โครงการเพาะและขยายกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี ตำบลตากฟ้า อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ดินของนายเชษฐ์ ชำนิถิรวาณิชย์ ที่ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2556 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน ในปี 2559 มูลนิธิชัยพัฒนา จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตร
โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ วางแผนพัฒนาพื้นที่ จัดทำเป็น โครงการเพาะและขยายกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี เพื่อเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกร โดยแบ่งพื้นที่เป็น 6 แปลง แปลงที่ 1 ประกอบด้วย อาคารปฎิบัติงาน เรือนเพาะชำ บ้านพักเจ้าหน้าที่ บ่อน้ำบาดาล สระเก็บน้ำ และแปลงทดลองปลูกไม้ผลต่างถิ่น, แปลงที่ 2 ปลูกขนุน 5 สายพันธุ์, แปลงที่ 3 ปลูก มะขามเปรี้ยว และอะโวคาโด, แปลงที่ 4 ปลูกอินทผลัม, แปลงที่ 5 ปลูกมะขามป้อม และแปลงที่ 6 ปลูกมะม่วง 7 สายพันธุ์
การดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 ถึงปี 2562 ได้เริ่มเพาะและขยายกิ่งพันธ์ุไม้ผล พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดูแลไม้ผลแก่ผู้สนใจ นอกจากนี้ ยังได้ปลูกไม้ผลเพิ่มเติม อาทิ มะเดื่อฝรั่ง จำนวน 7 สายพันธุ์ และอาโวคาโด 4 สายพันธุ์ เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิต สำหรับปี 2563 ตั้งเป้าหมายจะขยายกิ่งพันธุ์ไม้ผลพันธุ์ดี อาทิ มะขามป้อม, มะเดื่อฝรั่ง และมะม่วง จำนวน 1,640 กิ่งพันธุ์ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานแก่ผู้ประสบภัยต่อไป