พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่จังหวัดนครสวรรค์

โดย

21 ม.ค. 2563

639 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์
วันนี้เวลา 8 นาฬิกา 56 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพื้นที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ทรงเปิดแพรคลุมป้าย “ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์” 
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ สร้างศูนย์การแพทย์ฯแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นสถานพยาบาลให้บริการด้านการแพทย์แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง - ภาคกลางตอนบน รวม 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์  และเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นศูนย์ฝึกอบรมและรองรับการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข และวิทยาศาสตร์สุขภาพ
โอกาสนี้ ทรงวางมาลัยถวายราชสักการะพระบรมรูปสมด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 
จากนั้นได้ทอดพระเนตรนิทรรศการและห้องปฏิบัติการแผนกต่างๆ ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ เปิดให้บริการชั่วคราวที่อาคารสร้างเสริมสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2557 ในระยะแรกมีบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอก บริการแพทย์แผนจีน แพทย์แผนไทยและกายภาพบำบัด ปัจจุบันการก่อสร้างต่างๆแล้วเสร็จสมบูรณ์ มีกลุ่มอาคารผู้ป่วยนอก กลุ่มอาคารบริการ และอาคารผู้ป่วยในขนาด 60 เตียง 
ในอนาคตมีแผนพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ รองรับโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคทางตา หู คอ จมูกและช่องปาก โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รองรับปัญหาของผู้สูงอายุระยะหลังวิกฤติที่ต้องการการดูแลและฟื้นฟูสภาพ ซึ่งเป็นระยะก่อนกลับไปใช้ชีวิตประจำวันที่บ้าน รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของชีวิต นอกจากนี้ยังจะพัฒนาให้เป็นโรงพยายาลขนาด 300 เตียง ระดับตติยภูมิ ภายในปี 2571
เวลา 12 นาฬิกา 42 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงาน โครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านเกริ่นกระถิน ตำบลเนินขี้เหล็ก อำเภอลาดยาว ซึ่งเป็นที่ดินของนางสาวสมศรี คล้ายสุข ราษฎรในพื้นที่ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อปี 2559 เพื่อใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิฯ
ต่อมาในปี 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนา พัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นสถานที่เรียนรู้ด้านการเกษตรไม้ผล และพืชไร่ของชุมชน มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการพัฒนาให้เป็นแปลงผลิต และสาธิตการผลิตไม้ผลและพืชไร่ ด้วยการเพาะและขยายกิ่งพันธ์ุไม้ผล รวมถึงการแปรรูปผลผลิต เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม้ผล และพืชไร่ ทดแทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเป็นสถานที่ผลิตและเพาะขยายพันธุ์ไม้ผลและพืชไร่ เพื่อพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในอนาคต
ปัจจุบันได้ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ พร้อมปรับปรุงดิน และขุดสระน้ำขนาด ความจุ 77,000 ลูกบาศก์เมตร และในปี 2563 จะเริ่มปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้าง อาทิ แปลงอาคารโรงเรือน และอาคารโรงแปรรูปผลผลิต และอาคารโรงเพาะชำและขยายกิ่ง
จากนั้น เวลา 14 นาฬิกา 12 นาที เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ในโครงพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง ทอดพระเนตรการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรและผู้สนใจ พื้นที่ดังกล่าวนี้ พระครูจ้อย จันทสุวรรณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุทุมพร ตำบลหนองกรด ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อปี 2538 จำนวน 328 ไร่ 1 งาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จัดตั้งเป็นศูนย์สาธิตและให้บริการวิชาการเกษตร และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้สนใจ ภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ที่ในปี 2546 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา และ กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สนองพระราชดำริ ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่ง ดำเนินกิจกรรมเรื่องข้าว และเป็นศูนย์สาธิตการปลูกพืชแบบผสมผสานตามหลักเกษตรดี ที่เหมาะสม (GAP)เพื่อให้ประชาชนมีผักปลอดสารพิษบริโภค และเป็นแหล่งศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจ 
แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ทำแปลงสาธิตการเกษตร 3 แปลง ได้แก่ แปลงปลูกพืชสวนแบบผสมผสาน ทั้งผักกินใบ และกินผล โดยปลูกสลับกันตลอดทั้งปี , แปลงปลูกพืชสวน และแปลงนา ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 โดยการหว่านน้ำตม หลังการเก็บเกี่ยว จะปลูกพืชหลังนา เป็นพืชใช้น้ำน้อย และปลูกพืชบำรุงดิน เช่น ปอเทือง
ส่วนที่ 2 ก่อสร้างอาคารทรงงาน และอาคารส่วนปฏิบัติการ การดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าในปี 2559 โครงการประสบปัญหาเรื่องของสภาพภูมิอากาศ และการขาดแคลนน้ำ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการและวางแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ โดยปรับมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยเพิ่มขึ้น โดยใช้ระบบน้ำหยด ซึ่งโครงการฯ ได้ให้ความรู้แก่เกษตรในพื้นที่เพื่อนำไปปรับปรุงการปลูกพืชต่างๆ ในพื้นที่ อีกทั้ง ยังมีแผนปลูก อินทผลัม สายพันธุ์บาฮี ซึ่งเหมาะกับพื้นที่แล้ง เป็นทางเลือกการปลูกให้แก่เกษตรกรอีกชนิด โดยอินทผลัม มีรสชาติอร่อย ราคาสูง และกำลังเป็นที่ต้องการของท้องตลาด

แท็กที่เกี่ยวข้อง