สังคม

การบูลลี่ ฟังจนชิน แต่ยังไม่ฝังลงไปใต้จิตสำนึก

โดย

6 ม.ค. 2563

330 views

ในสังคมไทยพฤติกรรมการ Bully อาจไม่ได้รุนแรงในแง่ของการใช้กำลังทำร้ายกัน แต่มีความรุนแรงหลากหลายรูปแบบในสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่การแสดงกิริยาก้าวร้าว เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้คำพูดที่แสดงถึงการล้อเลียน เสียดสี เหยียดหยาม ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตา เพศ รสนิยม ทัศคติ การศึกษา ความสามารถ หรือการล้อเลียนปมด้อยเพื่อทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ ซึ่งการบูลลี่นั้นมีอยู่ในสังคมของคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กวัยเด็กประถม วัยรุ่นช่วงมัธยม มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งวัยผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วก็ยังพบว่ามีการ Bully เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

คำว่า ”บูลลี่” คือพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกผู้อื่น โดยเฉพาะคนที่อ่อนแอกว่าอย่างต่อเนื่องซ้ำๆ จนผู้ถูกระทำรู้สึกแย่ เจ็บปวด หรืออาจเกิดความเครียด ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการใช้กำลัง การใช้ถ้อยคำทำร้ายจิตใจ การใช้แรงกดดันทางสังคม หรือการปฏิบัติใดๆก็ตามในทางลบ ซึ่งเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนในวงการบันเทิง หรือ คนทั่วไป ทำให้เป็นภัยต่อสังคม และทำให้หลายๆคนใช้ชีวิตในสังคมไม่ได้อีกต่อไป

เราจะเห็นตัวอย่างการถูกบูลลี่ได้จากข่าวต่างๆมากมายในสังคม ซึ่งเมื่อไม่นานนี้มีข่าวที่เป็นกระแสดังในโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตได้ติดแฮชแท็ก #saveyochi ซึ่งมีคำพูดของดีเจพล่ากุ้ง ที่พูดในรายการศึก 12 ราศี ว่า "ฟ้าเหลืองที่เมืองทอง" เพื่อแซว โยชิ-รินรดา รองอันดับ 2 มิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส 2017

โดยดีเจพล่ากุ้งก็ถูกชาวเน็ตวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้คำพูดที่เข้าข่ายเหยียดเพศ และไม่ให้เกียรติผู้ร่วมรายการคนอื่น อย่างไรก็ตาม ดีเจพล่ากุ้งโพสต์ในอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ตนได้ส่งข้อความไปขอโทษโยชิในอินสตาแกรมแล้ว และอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ติดใจอะไร ซึ่งสิ่งที่ตนพูดในรายการ ไม่มีเจตนาดูถูกหรือเหยียดหยามเพศใด แต่ก็เป็นคำพูดที่ไม่ได้ไตร่ตรองก่อน จึงขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว และขอโทษทุกคน

(ข่าวที่เกี่ยวข้องhttps://youtu.be/C1Y5OLqil_0 )

หรืออีกข่าวดังล่าสุดที่ผ่านมาคือที่มีนักเรียนชั้นม.1 ยิงเพื่อนตาย เพราะถูกล้อว่าเป็นตุ๊ด ผู้ก่อเหตุเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนเดียวกับผู้ตาย ได้ใช้อาวุธปืนยิงด.ช.เอ (นามสมมติ) เข้าที่หน้าผาก เจ้าหน้าที่พยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิต แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ ผู้ก่อเหตุสารภาพว่า แค้นใจที่มักถูกผู้ตายกลั่นแกล้งเป็นประจำ บางครั้งมีการตบศีรษะ ทำร้ายร่างกาย และชอบล้อว่าเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ จนอับอายเพื่อน จึงตัดสินใจขโมยปืนของพ่อมาก่อเหตุดังกล่าว

(ข่าวที่เกี่ยวข้องhttps://youtu.be/GBhvYQwRaPY )

นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการโดนบูลลี่ของเด็กไทยว่า

“ในมุมของผู้ใหญ่มักจะมองว่าการกลั่นแกล้งกันในเด็กเป็นเรื่องเด็กเล่นกัน  เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในมุมของเด็กที่ถูกกระทำหรือถูกกลั่นแกล้งนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา เพราะเด็กต้องเจอกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ในทุกๆ วัน ดังนั้นผู้ใหญ่จึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก และสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ในระยะยาว ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู จึงไม่ควรนิ่งเฉย ควรเฝ้าสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ และดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที”

อย่างไรก็ตามการถูกบูลลี่อาจจะไม่ได้จบแค่การขอโทษซึ่งกันและกัน แต่อาจจะเกิดการสูญเสีย หรือเหตุที่เกิดจากความแค้น ซึ่งหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะช่วยให้เขาหยุดพฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งไม่ใช่ การลงโทษ แต่คือ “การพูดคุย”

แต่ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งในรูปแบบไหนก็นับว่าเป็นพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำใดๆ ที่ทำให้บุคคลอื่นรู้สึกด้อยค่า ย่ำแย่ อับอาย เสื่อมเสีย ให้เราลองคิดไตร่ตรองทุกครั้ง ก่อนลงมือแชร์ กดไลค์ หรือเขียน พูดออกไป เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้เราจะลบออกสักกี่ครั้ง มันก็ยังฝังในจิตใจของผู้ถูกกระทำเสมอ


แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ