สังคม

ถอดบทเรียนอุบัติเหตุปีใหม่ 63 ตามแผนทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน เตรียมรับมือเทศกาลสงกรานต์ต่อ

โดย

3 ม.ค. 2563

580 views

วันนี้มีพิธีปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน หรือ ศปถ. ช่วง 7 วันเดินทางเทศกาลปีใหม่ 63 หลังหลายหน่วยงานทั่วประเทศ ร่วมกันรณรงค์ลดอุบัติเหตุ และตัวเลขจำนวนครั้งเกิดอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตปีใหม่นี้ลดลงกว่าปีก่อน แต่ก็ต้องวิเคราะห์และปรับแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุให้สอดรับตามสถานการณ์ตามแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน
ที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน หรือศปถ.ได้วิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุในช่วง 7 วันเดินทางในเทศกาลปีใหม่ โดยเห็นว่ามาตรการเพิ่มด่านชุมนุมในถนนสายรองมากขึ้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยตัวเลขอุบัติเหตุปีใหม่นี้ลดลง ทั้งจำนวนครั้งผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ พร้อมถอดบทเรียน และวิเคราะห์อุบัติเหตุในทุกพื้นที่ เพื่อกำหนดรับมือ ลดอุบัติเหตุในเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนมีสถิติเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น รวมถึงร้านค้าฝ่าฝืนจำหน่ายสุราให้กับเยาวชนด้วย
สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ลดลงจากปีก่อน 370 ครั้งผู้บาดเจ็บ ก็ลดลงถึง 393 คน รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตรวม 373 คน ลดลงจากปี 62 ถึง 90 คน กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 15 คน ขณะที่สงขลา เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด 116 ครั้ง จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต ตายเป็นศูนย์ มี 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด พะเยา แม่ฮ่องสอน ยะลา ลำพูน และสตูล
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็น ดื่มแล้วขับอันดับ 1 ร้อยละ 32.68 รองลงมาเป็น ขับรถเร็ว ร้อยละ 29 ขณะที่ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.97
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ตั้งข้อสังเกตุว่า กลุ่มวัยรุ่น อายุ 15- 19 เสียชีวิตมากที่สุด ถึง 56 คน หรือ ร้อยละ 15.5 เป็นกลุ่มที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อค ขับรถเร็ว และ ครึ่งหนึ่ง มีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับ และข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขยังพบว่า ผู้บาดเจ็บที่อายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 1,411 ราย ดื่มแล้วขับ เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ อีกทั้งยังพบว่า อุบัติเหตุในแต่ละเทศกาล ที่มีผู้บาดเจ็บ 3500- 4000 คน ในจำนวนนี้ มี 5% ต้องกลายเป็นผู้พิการ ซึ่งจะเป็นภาระของครอบครัว ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา
น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สอดคล้องกับผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ เตรียมเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดหลักสูตร ให้เยาวชนตั้งแต่ก่อนวัยเรียน ระดับประถม มัธยมให้รู้จัก มีวินัยพื้นฐานจราจร ส่วนระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถวิเคราะห์จุดเสี่ยงและพฤติกรรมเสี่ยงได้ หลังพบเยาวชน อายุต่ำกว่า 24 ปี มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บและเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 33 จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องหาทางปกป้อง
ทั้งนี้ ประเทศไทยติดอันดับ 9 อุบัติเหตุบนท้องถนนของโลก ส่งผลเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาทต่อปี นับเป็นโจทย์ที่ท้ายทายของประเทศไทย ในการลดสถิติอุบัติเหตุตามข้อกำหนดตามแผนปฏิบัติการทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนที่ครบ 10 ปี ในปีนี้ แต่ยังห่างไกลเป้าหมาย ในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ