สังคม

สทนช.เตือนสถานการณ์ภัยแล้ง 2563 ทั้งหนักและยาวนาน วอนลดใช้น้ำ 20-30%

โดย

27 ธ.ค. 2562

766 views

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 วิกฤติหนัก โดยเฉพาะน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่เพียงพอต่อการเกษตร และต้องเจอปัญหาน้ำเค็ม จากน้ำทะเลหนุน ส่งผลกระทบการใช้น้ำประปาของคนกรุงเทพและปริมณฑลได้ ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขอความร่วมมือประชาชนลดการใช้น้ำลง 20-30 เปอร์เซ็นต์ รับมือภัยแล้งปีหน้า 
แม่น้ำยม ตลอดทั้งสาย ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดพิจิตร แห้งขอดตลอดลำน้ำ โดยที่ตำบลไผท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง เหลือเพียงแอ่งน้ำ ที่มีน้ำน้อยมาก ถือว่าน้ำแล้วเร็วกว่าทุกปี ขณะที่เกษตรกร เป็นห่วงการทำนาปรังในปีหน้า ซึ่งมีคำเตือนให้งด แต่ชาวนาขอเสี่ยงทำเพราะไม่มีอาชีพอื่นหารายได้ช่วงหน้าแล้ง
ตรงกับข้อห่วงใยของ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน.ที่พบว่า ในปีนี้ ปริมาณฝนทั้งประเทศน้อยกว่าค่าปกติ 18 % โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึง 24% แม้ในภาคอีสานที่มีฝนจากพายุโพดุล แต่ตกในตอนล่างของแม่น้ำชี แม่น้ำมูน ทำให้น้ำในเขื่อนใหญ่ 9 แห่ง มีน้ำกักเก็บน้อยกว่า ร้อยละ 30 โดยเฉพาะ 
เขื่อนอุบลรัตน์ น้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤตและปัจจุบันใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 80 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และอาจต้องใช้น้ำก้นอ่างสำหรับการอุปโภค-บริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมถึงในภาคใต้ เขื่อนรัชประภา และเขื่อนบางลางก็มีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย จนน่าห่วงว่าจะเสี่ยงภัยแล้ง
โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลัก มีน้ำใช้ การรวมเพียง 4,500 ล้าน ลบ.ม.ท้าให้ฤดูแล้งนี้มีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร จึงขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง 
เมื่อน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้อยจะเกิดปัญหาความเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ปลายเดือนมกราคม ต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน จากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นแล้วก่อนเข้าสู่ปี 2563 และเริ่มส่งผลต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง และเริ่มเข้าสู่คลองสาขาของจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรอาจได้รับความเสียหายจ้านวนมาก จึงมีความกังวลว่าในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะรุกตัวหนักขึ้น ซึ่งภาครัฐได้เร่งหาทางเตรียมการรับมือ
ขณะที่เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในปี 63 มีแนวโน้มแล้งหนักและยาวนานกว่าปี 58 ทั้งฝนที่น้อย และน้ำทะเลหนุนจำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนมาดันน้ำเค็ม  ทำให้เกิดการใช้น้ำมากกว่าปกติ คนกรุงเทพและปริมณฑล อาจต้องใช้น้ำกร่อย หรือน้ำไหลไม่แรงบางช่วงเวลา และต้องควบคุมการใช้น้ำภาคการเกษตร ซึ่งเสี่ยงขาดแคลนน้ำราว 2.6 ล้านไร่ และเสี่ยงขาดแคลนน้ำรุนแรง กว่า 3.7 แสนไร่ จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน ลดการใช้น้ำลง 
ขณะที่อธิบดี กรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2563 และศูนย์บัญชาการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง สำรองน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ ตั้งแต่ มกราคม ถึง มิถุนายน ปีหน้า 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ