พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นการส่วนพระองค์

โดย

23 ธ.ค. 2562

551 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นการส่วนพระองค์
วันนี้ เวลา 10 นาฬิกา 29 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ทอดพระเนตรศูนย์ข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร 
สำหรับโบราณสถานภายในอุทยานฯแห่งนี้ คาดว่าสร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กรมศิลปากรได้ดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่เมืองโบราณกำแพงเพชรมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งก่อตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรขึ้น และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2534 มีพื้นที่รวม 2 พัน 114 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ เขตกำแพงเมือง มีพื้นที่ 503 ไร่ และเขตอรัญญิก มีพื้นที่ 1 พัน 611 ไร่ โบราณสถานภายในอุทยานฯ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น การใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง มีการก่อสร้างโบราณสถานรวมกลุ่มในบริเวณป่าธรรมชาติ นับเป็นการคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีเหมือนในอดีต เมื่อปี 2534 คณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก จึงได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชรเป็นมรดกโลก
จากนั้นประทับรถรางพระที่นั่งไปทอดพระเนตรวัดต่างๆ ภายในอุทยานฯ อาทิ วัดช้างรอบ มีเจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว ฐานสี่เหลี่ยมด้างล่างสูงใหญ่ มีบันได 4 ด้านเพื่อขึ้นไปบนลายประทักษิณ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครี่งตัว จำนวน 68 เชือก ตัวช้างทำลวดลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลวดลายปูนปั้นนูนสูงรูปพันธุ์พฤกษา ส่วนเจดีย์ด้านบน พบหลักฐานว่ามีการประดับงานปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และงานดินเผารูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี และหงส์ นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าเจดีย์ประธานมีฐานวิหารขนาดใหญ่และถัดไปเป็นสระน้ำขุดลงไปในชั้นศิลาแลง ซึ่งได้นำศิลาแลงจากสระนี้ไปวัดสร้างวัดช้างรอบ
ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปวัดพระสี่อิริยาบถ สิ่งก่อสร้างสำคัญ คือ วิหารขนาดใหญ่ ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านก่อให้เว้าเข้าไป เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละด้าน ในอิริยาบถเดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือเฉพาะพระยืนทางด้านทิศตะวันตก พระพักตร์มีลักษณะศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏหรือหน้าผากกว้าง ส่วนพระหนุหรือคางเสี้ยม
การเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทำให้ทราบถึงอดีตของกำแพงเพชรว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำสงคราม โดยเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาและล้านนา รวมทั้งได้พัฒนาต่อยอดลักษณะทางศิลปะรูปแบบของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรได้อย่างสวยงาม ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและชัดเจน
ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ได้ทอดพระเนตรวัดพระแก้ว ซี่งเป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีขนาดใหญ่บนฐานมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบจำนวน 32 ตัว ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น 3 องค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบ จำนวน 32 เชือก

แท็กที่เกี่ยวข้อง