ต่างประเทศ

ครบ 70 ปี NATO - เปิดการประชุมท่ามกลางความบาดหมางของกลุ่มพันธมิตร

โดย

4 ธ.ค. 2562

489 views

จุดเริ่มต้นของวิวาทะรุนแรงนี้มาจากการที่ ประธานาธิบดีมาครงกล่าวพาดพิงถึงการประชุมนาโตตั้งแต่ต้นเดือนพฤษจิกายนว่า บรรดาชาติสมาชิกทั้งหลายกำลังสมองตาย โดยคำว่าสมองตายนี้มาครงระบุว่าตั้งใจพูดเพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้แก่ทุกคน เนื่องจากที่ผ่านมา บรรดาชาติสมาชิกพากันสนใจแต่ประเด็นอื่นๆ จนละเลยเป้าหมายของการรวมตัวกัน
แม้กระนั้นดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะไม่เข้าใจความหมายที่มาครงสื่อ โดยเฉพาะทรัมป์ ในงานแถลงข่าวเมื่อวานนี้ผู้นำสหรัฐฯ นั่งเคียงคู่กับ เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ระบุ ผู้นำฝรั่งเศสไม่มีความเคารพต่อชาติสมาชิกอื่นๆ พร้อมเสริมว่า หากพิจารณาจากความวุ่นวายที่ฝรั่งเศสเผชิญมาทั้งปีนี้แล้ว ฝรั่งเศสน่าจะเป็นชาติที่ต้องพึ่งพานาโตมากที่สุด ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นได้ประโยชน์น้อยที่สุดเสียด้วยซ้ำจากการเป็นสมาชิก
ความโกรธเกรี้ยวของผู้นำสหรัฐฯ ครั้งนี้ เป็นไปได้ว่ามาจากการประชุม G7 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเตรียมออกกฎหมายเก็บภาษีดิจิทัลจากบรรดาบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของอเมริกัน อย่าง Apple, Facebook, Amazon และ Google ถูกเรียกเก็บภาษีเป็นเงินจำนวนมหาศาล
(Insert : 2187) ขณะนี้ความขุ่นหมองข้องใจระหว่าง ตุรกี ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ จึงกำลังเป็นที่จับตามอง ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อในการประชุมครั้งนี้ มากกว่านั้นยังมีประเด็นสำคัญผู้นำสหรัฐฯ เน้นย้ำคือเรื่องงบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายประเทศสมาชิกจ่ายเงินทุนไม่เพียงพอเทียบเท่ากับที่สหรัฐฯ จ่ายไป
ตามข้อกำหนดแล้ว บรรดาประเทศสมาชิกต้องจ่ายเงินร้อยละ 2 ของจีดีพี แต่ในยุโรปกลับมีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่จ่ายครบตามเกณฑ์ที่กำหนด แม้แต่ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงอย่างเยอรมนี กลับจ่ายเพียงร้อยละ 1.36 ของจีดีพี ในขณะที่สหรัฐฯ จ่ายถึงร้อยละ 3.4 ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตสหรัฐฯ อาจลดงบประมาณที่จ่ายให้นาโตลง
ทั้งนี้ตามเป้าหมายที่ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโตระบุไว้ตั้งแต่ต้นปี การประชุมนาโตครั้งนี้จะเน้นย้ำไปที่ความมั่นคงปลอดภัย และความท้าทายใหม่ๆ ที่แต่ละชาติสมาชิกเผชิญ รวมไปถึงการมุ่งวางแผนอนาคตร่วมกันว่านาโตจะปรับตัวอย่างไรให้รับมือกับสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่ดูเหมือนว่าในการประชุมวันแรกจะยังไม่ได้เนื้อหาตามเป้ามากนัก
อย่างไรก็ดี โจนาธาร มาร์คัส นักข่าวสายการทูตจากบีบีซีวิเคราะห์ว่า อุปสรรคที่จะขัดขวางการเดินไปข้างหน้าของนาโตมากที่สุดกลับไม่ใช่ทรัมป์ แต่เป็นตุรกี เนื่องด้วยขณะนี้รัฐบาลกำลังมุ่งเน้นไปที่การกำจัดกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด และตุรกีกำลังใช้ข้อนี้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
ปัจจุบันนาโตกำลังมีแผนที่จะเสริมกองกำลังป้องกันในภูมิภาคบอลข่านมากขึ้น นโยบายดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติก็ต่อเมื่อทุกสมาชิกเห็นชอบ ซึ่งตุรกีระบุว่าตนจะคัดค้านแผนนี้ หากชาติสมาชิกอื่นๆ ไม่นิยามว่าชาวเคิร์ดเป็นกลุ่มก่อการร้ายและช่วยกันปราบปราม ซึ่งข้อเรียกร้องนี้จะสร้างความลำบากใจให้แก่ชาติสมาชิกอื่นๆ โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ตุรกีบุกซีเรียอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 โดยมีสหรัฐฯ เป็นหัวขบวน จุดเริ่มต้นเพื่อคานอำนาจกับมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตและเพื่อร่วมกันต่อต้านการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิสนิสต์แก่บรรดาประเทศสมาชิกในยุโรป
นาโตเป็นทั้งกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองและการทหารในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติตะวันตก ปัจจุบันนาโตมีกองกำลังทหารจากชาติมาชิกรวม 20,000 นาย ที่ผ่านมานาโตเปิดปฏิบัติการในหลายพื้นที่ความขัดแย้ง เช่น ลิเบีย อัฟกานิสถาน และโคโซโว
การโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีชาติสมาชิกอื่นๆ ด้วย ข้อกำหนดนี้คือหัวใจหลักของการจับมือร่วมกัน แต่ท่ามกลางความบาดหมางที่เกิดขึ้น อนาคตของนาโตกำลังสั่นคลอน ประกอบกับภัยคุกคามใหม่ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่คือก่อการร้ายและสงครามการค้า ก่อให้เกิดคำถามสำคัญตามมาว่า จากงบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีที่ใช้จ่ายไป นาโตจะยังจำเป็นอยู่หรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ