สังคม

รณรงค์ 'หยุดกิน! ปลานกแก้ว' ห่วงสูญพันธุ์กระทบระบบนิเวศ

โดย

15 พ.ย. 2562

3.7K views

ความพยายามรณรงค์ให้หยุดกินปลานกแก้ว จากกลุ่มอนุรักษ์ มีมาแล้วหลายครั้ง แต่เมื่อกระแสเงียบไปก็พบว่าผู้ค้านำปลานกแก้วกลับมาวางจำหน่ายอีก แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่ใช่สัตว์คุ้มครอง แต่นักวิชาการด้านทะเลไทยชี้ว่า ปลานกแก้วมีประโยชน์อย่างมากกับปะการัง ซึ่งงานวิจัยพบว่าปลานกแก้ว 1 ตัว สามารถผลิตทรายขาวได้มากกว่า 1 ตัน และทำให้ระบบนิเวศสมดล แต่ระยะหลังนักดำน้ำพบว่าจำนวนของมันลดลงอย่างน่าเป็นห่วง 
สีสันที่สวยงาม ทำให้ปลานกแก้วโดดเด่น แต่สิ่งที่ทำให้มันแตกต่างจากสัตว์ทะเลชนิดอื่น คือ จงอยปากที่แหลมคมและแข็งแรง คอยทำหน้ากัดกิน ปะการังที่ตายแล้ว และคอยดูแลปะการัง ไม่ให้สาหร่ายมาปกคลุม และช่วยให้ปะการังฟอกสี กลับสู่สภาพเดิมได้เร็วขึ้นถึง 6 เท่า และหากไม่มีปลานกแก้ว คงไม่ได้เห็นปะการังที่สวยงามในวันนี้ การกัดกินปะการังตาย ตัวละไม่ต่ำกว่า 4 ไร่ ทำให้มันขับของเสียออกมาเป็นทรายขาวละเอียด หากไม่ถูกจับมันจะอายุยืนถึง 20 ปี ความยาวกว่า 80 เซนติเมตร สามารถผลิตทรายขาวให้กับท้องทะเล
รูปลักษณ์ที่สวยงาม ควรอยู่ในท้องทะเล แต่กลับมีบางกลุ่มนิยมกินปลาชนิดนี้ แม้เนื้อปลาหยาบไม่อร่อย ทำให้นายวิษณุ สุขแสม เจ้าของฟาร์มปลาและนักดำน้ำ พยายามรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ผ่านเพจซิมิลันฟาร์ม ให้หยุดกินปลานกแก้ว และมีผู้เห็นด้วยและกดแชร์โพสต์นี้ออกไปเกือบ 2 หมื่นครั้ง
นายวิษณุ เล่าว่า การดำน้ำกว่า 30 ปี ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ว่าจำนวนปลานกแก้วไม่มีให้ง่ายๆเหมือนแต่ก่อน และรู้สึกว่ามีจำนวนลดลง บวกกับการเห็นมันวางขายตามท้องตลาด จึงเป็นห่วงว่าในอนาคตมันอาจสูญพันธุ์หรือไม่ เพราะเคยทดลองเลี้ยงในฟาร์มแล้วไม่เป็นผล นั่นหมายความว่ามันเหมาะที่จะอยู่เคียงท้องทะเลมากที่สุด
ขณะที่ทีมข่าว 3 มิติ สำรวจตลาดสด ในกรุงเทพมหานคร พบว่าปลานกแก้วยังคงวางจำหน่ายบนแผงปลา กิโลกรัมละ 250 บาท เจ้าของร้านบอกว่ารับซื้อจากแผปลาจังหวัดระนอง หนึ่งเดือนจะมีพ่อค้านำปลานกแก้วมาขายให้เฉลี่ย เดือนละ 3 ครั้ง เนื่องจากมีลูกค้าประจำที่นิยมกินปลาชนิดนี้ 
ทางด้านนักวิชาการ ระบุว่า ปลานกแก้วมีมากกว่า 80 สายพันธุ์ ทำให้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจนเหมือนปลาชนิดอื่น ทำให้สถานะตอนนี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย จะจับกุมได้ก็ต่อเมื่อมีเจตนาชัดเจน หรือพบการกระทำผิดในพื้นที่หวงห้ามเท่านั้น
ด้วยคุณสมบัติของปลานกแก้ว ที่เปรียบเสมือนพยาบาลที่คอยดูแลและปกป้องแนวปะการัง เพื่อความปลอดภัยของตัวมันเอง จึงผลิตเมือกออกมาห่อหุ้มตัวเองในยามค่ำคืน โดยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเชื่อว่า เมือกนี้จะมีกลิ่นเหม็นมาก คอยปกป้องมันได้จากสัตว์นักล่า แต่กลับไม่สามารถใช้ปกป้องมนุษย์ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ