ไลฟ์สไตล์

โบตั๋นเช็คอิน 'บ้านขนมปังขิง' คาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์ ย่านเสาชิงช้า

โดย passamon_a

16 ก.ค. 2565

133 views

บ้านขนมปังขิง บ้านเรือนไทยสไตล์ฝรั่ง อายุกว่า 100 ปี ถูกเปิดความงดงาม เป็นคาเฟ่กึ่งพิพิธภัณฑ์ ให้คนเข้าชมสถาปัตกรรม และวิถีชีวิตผู้คนในอดีต


โบตั๋นเช็คอิน พาคุณผู้ชมมาอยู่ที่ บ้านขนมปังขิง ย่านเสาชิงช้า บ้านหลังนี้เป็นบ้านไม้เก่า ตั้งแต่ปี 2456 เป็นเรือนไทยสไตล์ฝรั่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มแรกเดิมทีเป็นบ้านของอำแดงหน่าย ซึ่งเป็นภรรยาของ ขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) ตอนนี้บ้านตกอยู่กับทายาทรุ่นที่ 4 ได้ปรับปรุงเป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ เพื่ออนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา  


เดิมที่ดิน บ้านขนมปังขิง ในซอยหลังโบสถ์พราหมณ์ผืนนี้ขนาด 47 ตารางวา แต่ถูกเวรคืนเพื่อทำถนนจึงเหลือเพียงแค่ 35 ตารางวาเท่านั้น บ้านหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2456 โดยอำแดงหน่าย ภรรยาของขุนประเสริฐทะเบียน (ขัน) ซึ่งซื้อที่ดินนี้จากหลวงบุรีพิทักษ์ และหลังจากนั้นขุนประเสริฐทะเบียน ได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นในรูปแบบของบ้านขนมปังขิง เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จากบ้านพักของสถานทูตฝรั่งเศส


โดยชื่อนั้นมาจากการตกแต่งลายฉลุคล้ายคลึงกับ ขนมปังขิง หรือคุกกี้ที่ชาวยุโรปมักจะทำกินกันในเทศกาลคริสต์มาส


เมื่ออำแดงหน่ายถึงแก่กรรม บ้านหลังนี้ถูกขายต่อให้หลาน คือท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ค่อย ๆ เริ่มบูรณะบ้านที่เริ่มทรุดโทรมลงในช่วงปี พ.ศ.2533 มีการทำป้ายชื่อ บ้านขนมปังขิง ด้วยฝีมือการแกะสลักของคุณหมอสิทธิ์ สามีของท่านผู้หญิงเพ็ชรา และมีการยกพื้นบ้านให้สูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ตามความสูงของถนน


อย่างไรก็ตาม บ้านยังคงถูกปิดความงดงามมาต่อเนื่อง จนตกถึงมือทายาทรุ่น 4 ได้ตัดสินใจเปิดบ้านให้เป็นร้านกาแฟกึ่งพิพิธภัณฑ์ เพราะหากบ้านหลังนี้ไม่เปิดใช้ก็มีแต่จะเก่าพังไปตามเวลา การบูรณะจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเก็บร่องรอยความดั้งเดิมเอาไว้ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมีจัดโชว์เครื่องเรือนเก่า


ทั้งโต๊ะเครื่องแป้งโบราณ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องใช้ของท่านผู้หญิงเนื่องสนิท ยังคงสภาพสมบูรณ์ โทรศัพท์หมุนมือ โทรทัศน์รุ่นเก่า และรูปถ่ายในอดีตของครอบครัวเจ้าบ้าน ตกแต่งอยู่บนฝาผนังและตามมุมต่าง ๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้มาเยี่ยมชมสถาปัตกรรม และวิถีชีวิตผู้คนในอดีตที่บ้านหลังนี้  


คุณอาจสนใจ