ไลฟ์สไตล์

ทำไมคนไทยไม่ดูละครไทย? ชำแหละความต่างเทียบ 'ซีรีส์เกาหลี' เหตุใดละครไทยถึงมีแต่ผัวเมีย

โดย thichaphat_d

16 ก.พ. 2565

5.2K views

จากกระแสร้อนในแวดวงบันเทิง ถึงการตั้งคำถาม "ทำไมคนไทยถึงไม่ดูละครไทย?" จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่าทำไมหนัง-ซีรีส์เกาหลี ถึงได้มาครองตลาดความบันเทิงในเมืองไทย เรียกได้ว่าเกาหลีฉายเรื่องไหน คนไทยก็เปิดดูเรียลไทม์ แล้วหนัง-ละครของไทยเองล่ะ? หายไปไหน? ทำไมความนิยมถึงเสื่อมคลาย วันนี้เราจะมาชำแหละความต่างละครไทย และซีรีส์เกาหลี และเหตุใดละครไทยถึงมีแต่ผัวเมีย




ทำไมคนไทยไม่ดูหนังไทย ละครไทย

จากการรวบรวมความคิดเห็นในโลกออนไลน์ พบว่าอันดับแรกที่ทำให้ละครไทยไม่น่าติดตาม มาจากบท หรือพล็อตเรื่อง นั่นเอง ละครไทยมักวนเวียนซ้ำซากอยู่กับเรื่องผัวเมีย ความรัก เมียหลวงเมียน้อย นอกใจ แย่งผู้ชาย ข่มขืน คุกคามทางเพศ ที่มักเรียกว่าละครน้ำเน่า ดังที่เราจะเห็นละครไทยรีเมคในเรื่องเดิมๆ กันหลายรอบ อาทิ จำเลยรัก สวรรค์เบี่ยง เมียหลวง ฯลฯ บทละครที่ยังเหมือนเดิม จะเปลี่ยนก็เพียงนักแสดงเท่านั้น อีกทั้งละครไทยยังเดาได้ง่าย ไม่มีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง ทำให้ผู้ชมไม่ค่อยอิน




แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเกาหลี พบว่าซีรีส์เกาหลี มีบทที่หลากหลาย แหวกแนว หักมุม เดาทางไม่ถูกจนต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเกาหลีสร้างซีรีส์ขึ้นมาเพื่อเสิร์ฟคนทั้งโลก เห็นได้จากซีรีส์สควิดเกม (Squid Game) ทางเน็ตฟลิกซ์ ที่โด่งดังเป็นกระแสไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ยุโรป ต่างจากละครไทยที่เน้นเสิร์ฟประชากรในประเทศของตัวเอง

นอกจากนี้ความหลากหลายของซีรีส์เกาหลี ทำให้ผู้ชมไม่จำเจ เห็นได้จากตัวละครในหลากหลายอาชีพ มีการทำรีเสิร์ชเจาะลึกรายละเอียดกันเป็นปีๆ อาทิ อัยการ ผู้พิพากษา หมอ แพทย์นิติเวช ทหาร ตำรวจ นักการเมือง นักข่าว นักสืบ นักธุรกิจสตาร์ทอัพ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งอาชีพรับทำความสะอาดห้องคนตาย




ล่าสุดมีซีรีส์เกาหลีที่เพิ่งออนแอร์ เรื่อง Forecasting Love and Weather ธีมเรื่องจะเล่าอาชีพของนางเอกเป็นนักพยากรณ์อากาศในกรมอุตุนิยมวิทยา แน่นอนว่าเป็นอะไรที่เราไม่คุ้นชิน และไม่เคยมีซีรีส์เรื่องไหนเล่าถึงอาชีพนี้มาก่อน ซึ่งในเรื่องยังมีการสอดแทรกความรู้เรื่องสภาพอากาศ ให้คนดูสนุก เข้าใจง่าย แถมได้ความรู้อีกด้วย

ในขณะที่ละครไทย เห็นกันชินตากันแต่บทนักธุรกิจคนรวย กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าขุนมูลนาย ตำรวจ นักเลง กันเสียส่วนใหญ่ และบางเรื่องถึงกับระบุอาชีพไม่ได้ก็มี




แต่ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ละครไทยแนวรักๆใคร่ๆ ผัวเมีย เป็นละครหากินง่าย การันตีเรตติ้ง ฉายทีไรคนก็ดู เรตติ้งพุ่ง ทำให้ผู้จัดก็ต้องผลิตละครแนวนี้ซ้ำๆ เห็นได้จากการลองนำเสนอละครแนวใหม่ๆ เช่น ละครแนวสืบสวน แนวอาชีพ แนวการแพทย์ แนวสร้างแรงบันดาลใจ ที่ไม่ถูกจริตคนไทย กลายเป็นเรตติ้งไม่ดี สปอนเซอร์ไม่เข้า ในอนาคตช่องก็ไม่อนุมัติให้สร้าง จึงเป็นอีกสาเหตุที่วงการละครไทยยังคงติดหล่มในรูปแบบเดิมๆ

แต่ทั้งนี้ก็มีละครไทยแหวกแนวที่ประสบความสำเร็จ จนเป็นที่พูดถึงอยู่เหมือนกัน อย่างซีรีส์ฮอร์โมน หรือเลือดข้นคนจาง รวมทั้งบุพเพสันนิวาส ที่หลายคนยกนิ้วให้กับทีมผู้สร้าง นักแสดง และคนเขียนบท และอยากจะเห็นละครไทยในรูปแบบใหม่ๆ ประสบความสำเร็จเช่นนี้บ้าง




นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของนักแสดง จะเห็นได้จากนักแสดงเกาหลีมักไม่ยึดติดกับบท บางเรื่องไม่จำเป็นต้องมีพระเอกนางเอก แต่มีตัวเอก หรือนักแสดงนำที่เป็นคนดำเนินเรื่อง บางคนอายุ 40 50 แต่ก็ยังได้รับบทนำ ต่างจากไทยที่มักจะยึดติดกับคู่จิ้น และหากดาราคนไหนมีอายุหน่อย ก็ต้องรับบทพ่อ บทแม่กันแล้ว ทำให้วงจรนักแสดงของไทยดูจะสั้นมาก หรือบางคนเล่นดี แต่กระแสไม่ปัง หน้าตาไม่พิมพ์นิยม ก็จะไม่ค่อยเห็นผลงาน


เรตติ้งของละครไทยย้อนหลัง

ย้อนดู 10 ละครเรตติ้งสูงสุดแห่งปี 2021


10. คู่แค้นแสนรัก (แนวรักกุ๊กกิ๊ก) / คฑาสิงห์ (แนวบู๊) ช่อง 7 เรตติ้ง 6.4

8. กระเช้าสีดา ช่องวัน (ดราม่า ความรัก) / แม่เบี้ย ช่อง 7 (รีเมคความรักคนกับงู) เรตติ้ง 6.5

6. ทะเลเดือด / เผาขน (บู๊ทั้งคู่) ช่อง 7 เรตติ้ง 6.7

4. ทางเสือผ่าน (แนวบู๊) ช่อง 7 เรตติ้ง 6.9

3. วงเวียนหัวใจ (แนวความรัก) ช่อง 7 เรตติ้ง 7.1

2. สะใภ้เจ้าสัว (คอมเมดี้) ช่อง 3 เรตติ้ง 7.2

1. วันทอง (ดราม่า ความรักย้อนยุค) ช่องวัน เรตติ้ง 7.6




จะเห็นได้ว่า 10 อันดับที่พูดมาจะเป็นละครแนวความรัก ดราม่า และบู๊ แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเรตติ้งแล้ว ยังมีเรื่องของกระแสละคร ยอดสตรีมชมในยูทูบ หรือช่องทางดิจิทัล และการพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้จะเห็นว่าซีรีส์วายหลายเรื่องก็โด่งดัง นักแสดงมีแฟนคลับจำนวนมาก และขยายไปยังต่างประเทศด้วย

ขณะที่หากดูย้อนไปในอดีตจะเห็นว่าละครที่มีเรตติ้งสูงที่สุดคือเมื่อปี 2560 กับละครบุพเพสันนิวาส ที่เรตติ้งพุ่งไปถึง 13

ทางเลือกใหม่เสพความบันเทิง



เมื่อการชมละครไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนฟรีทีวี เพราะปัจจุบันมีทางเลือกในการเสพสื่อมากมาย สามารถดูได้ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ จะดูแบบออนไลน์ เรียลไทม์หรือออฟไลน์ก็ได้หมด ผ่านทางทีวีจอใหญ่ มือถือ แท็บเลต ได้ตามใจชอบ แม้จะต้องสมัครสมาชิก เสียค่าชมรายเดือนก็ยอม เพื่อการรับชมอย่างถูกลิขสิทธิ์ ภาพคมชัดระดับ HD

จนเกิดสงครามตลาดสตรีมมิ่งออนไลน์ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ฟาดฟันกันด้วยคอนเทนต์ ช่วงชิงซีรีส์ หนัง สารคดี วาไรตี้ มาเรียกคนดู ทั้ง Netflix, Viu, Disney+ Hotstar, WeTV, iQIYI, True ID, AIS PLAY ฯลฯ รวมทั้งแอป ch3plus จากทางช่อง 3


พลังหนุนของรัฐบาลเกาหลี ดัน soft power กระหึ่มโลก




อีกหนึ่งความต่างของวงการบันเทิงเกาหลีและไทย ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยทางรัฐบาลเกาหลีได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนต์ ซีรีส์ Kpop อย่างมาก เพราะมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ สามารถนำเม็ดเงินกลับมายังประเทศได้อย่างมหาศาล จากการแข่งขันด้านวัฒนธรรม

ซึ่งทางรัฐบาลได้เปิดกว้างให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท ทำให้เกิดการขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งประเทศอย่างตรงเป้า ทำให้ชิ้นงานของเกาหลีโด่งดังระดับโลก ทั้งบอยแบนด์ BTS, ภาพยนตร์ Parasite ที่คว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว



นอกจากนี้ ยังเกิดการสอดแทรก Soft power นำจุดเด่นและวัฒนธรรมเกาหลีไปใส่ในหนัง ละคร จนคนดูซึมซับไปเรื่อยๆ เช่น เมนูอาหารเกาหลี กิมจิ รามยอน ต๊อกบกกี ไก่ทอด , สถานที่ท่องเที่ยว, แฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผม เห็นได้ชัดจากซีรีส์ Squid Game ที่แม้แต่คนไทยเองยังฮิตใส่ชุดโกโกวา หรือเล่นเกมน้ำตาลแผ่นตามรอยซีรีส์ ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มี Soft Power แข็งแกร่งลำดับต้นๆ ของโลก




ต่างจากอุตสาหกรรมหนัง ละคร ในไทย ที่ผู้สร้างต้องเผชิญชะตากรรมกันเองซะส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการสนับสนุนทางภาครัฐเท่าที่ควร ทั้งในเรื่องเงินทุนและนโยบาย เห็นได้จากการเซ็นเซอร์ ฉากจูบ ขวดเหล้าขวดเบียร์ ทั้งที่เราจะเห็นขวดโซจูกันในซีรีส์เกาหลีแทบทุกเรื่อง อีกทั้งยังมีการสกัดกั้นในหลายประเด็นอ่อนไหว เช่น การเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ เพศ จนทำให้ผู้สร้างไม่สามารถนำมาตีแผ่ได้ ทำให้ต้องวนอยู่กับเรื่องเดิมๆ เพื่อเซฟโซน


นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินทุน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งค่าจ้างนักแสดง ค่าจ้างผู้เขียนบทที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถโฟกัสและเจาะลึกรายละเอียดจนตกผลึก รวมทั้งโปรดักชั่นในส่วนต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน คนเก่ง คนมีความสามารถก็ไม่อยากมาทำ ต่างจากเกาหลีที่มีงบประมาณอย่างเหมาะสม กระจายทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซีรีส์ 1 เรื่องใช้ทุนสร้างกันหลายสิบ หลายร้อยล้าน



นอกจากนี้การสนับสนุนจากรัฐถือเป็นเสิ่งสำคัญ เช่นเกาหลีใต้ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง โดยตั้งเป้าให้มีมูลค่า 290,000 ล้านดอลลาร์  เพื่อให้สูงกว่าอุตสาหกรรมไอที

จากนั้นก็เพิ่มงบประมาณ จากปีละ 14 ล้านดอลลาร์ เป็น 84 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุน โดยเรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จคือ Winter Sonata ซึ่งได้รับความนิยม ทำให้การท่องเที่ยวเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้นกว่า 75% นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐ เช่นการเอื้อให้ภาคเอกชนสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง  

ซึ่งแผนนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2001  ซึ่งเท่ากับว่าความสำเร็จวันนี้เป็นผลจากการเริ่มต้นของ 20 ปีที่แล้ว


สามปัจจัย หนุนบันเทิงไทยสู่ระดับโลก




ซึ่งความฝันที่จะเห็นหนัง ละครไทย เติบโตและมีชื่อเสียงแบบเกาหลี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้เลยซะทีเดียว หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน ดังที่เห็นจากโมเดลของเกาหลีใต้ ที่ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ที่จะผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง และเปิดรับฟังเสียง

เช่นเดียวกับผู้สร้างที่จะต้องสร้างสรรค์ผลงาน เปลี่ยนภาพละครน้ำเน่า สู่รูปแบบใหม่ เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชม นอกจากนี้ตัวผู้ชมเองก็ต้องเปิดใจ และเสพผลงานไทย ช่วยกันดู แนะนำ บอกต่อ เพื่อให้ผู้ผลิตมีกำลังใจ และพัฒนาวงการหนัง ละครไทย ได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

คุณอาจสนใจ

Related News