ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

บทความเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พิจารณาจัดทำโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำคำอธิบายราชาศัพท์เพื่อเผยแพร่ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ตอนที่ ๓

โดย

4 เม.ย. 2562

765 views

กำลังวัน

กำลังวันคือ เลขที่กำหนดไว้ประจำวัน มีที่มาจากจำนวนปีที่เทวดาพระเคราะห์เสวยอายุตาม
คัมภีร์มหาทักษา ได้แก่ วันอาทิตย์มีกำลังวัน ๖ วันจันทร์มีกำลังวัน ๑๕ วันอังคารมีกำลังวัน ๘ วันพุธกลางวันมีกำลังวัน ๑๗ วันพุธกลางคืนหรือพระราหูมีกำลังวัน ๑๒ วันพฤหัสบดีมีกำลังวัน ๑๙ วันศุกร์มีกำลังวัน ๒๑ วันเสาร์มีกำลังวัน ๑๐  เลขทั้ง ๘ จำนวนนี้รวมกันได้ ๑๐๘ ซึ่งเป็นเลขมงคล ส่วนพระเกตุซึ่งเพิ่มเข้ามา
เป็นดาวพระเคราะห์ดวงที่ ๙ ในภายหลัง มีกำลังวัน ๙  ทั้งนี้ กำลังวันมักใช้เป็นจำนวนครั้งในการทำกิจกรรมในวันนั้น ๆ

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อถึงช่วงสำคัญจะมีการยิงปืนกองแก้วจินดาจำนวนนัดตามกำลังวัน เช่น สมัยรัชกาลที่ ๙ ยิงปืนกองแก้วจินดา ๒๑ นัดตามกำลังวันศุกร์ เมื่อสรงสหัสธารา [สะ-หัด-สะ-ทา-รา]แล้วครั้งหนึ่ง และขณะทรงรับพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด]อีกครั้งหนึ่ง

ใบไม้ที่ใช้ในการสรงมุรธาภิเษก

          ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
[พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด]
รัชกาลที่ ๙ พุทธศักราช ๒๔๙๓ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑปพระกระยาสนาน ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์[อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด]คือที่นั่งทำด้วยไม้มะเดื่อ ใต้ที่ประทับรองด้วยใบแก้วที่ตำราโหราศาสตร์กล่าวว่า อักษร ก เป็นอายุ คือความมั่นคงสำหรับผู้เกิดวันจันทร์ ทรงเหยียบใบอ้อที่รองอยู่ใต้พื้นมณฑป
พระยาสนาน ใบอ้อเป็นหญ้าชนิดหนึ่ง ลำต้นแข็งเป็นปล้อง ข้างในกลวง ตามตำรากล่าวว่า อักษร อ
เป็นกาลกิณี คือสิ่งชั่วร้ายสำหรับผู้เกิดวันจันทร์  ต่อมาเจ้าพนักงานไขสหัสธารา [สะ-หัด-สะ-ทา-รา]
ถวายสรง  สมเด็จพระสังฆราช พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ โหรหลวงและหัวหน้าพราหมณ์ ถวายน้ำพระพุทธมนต์
และน้ำเทพมนตร์ [เทบ-พะ-มน]ตามลำดับแล้ว หัวหน้าพราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบมะตูมทรงทัด
ซึ่งมีลักษณะเหมือนตรี เทพศาสตราวุธ [เทบ-พะ-สาด-ตฺรา-วุด]ในศาสนาพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ
และความเป็นสิริมงคล แล้วทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบกระถินเพื่อทรงถือ

ใบมะตูม

ใบมะตูม มีลักษณะเป็น ๓ แฉก เป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางตำราถือว่าคล้าย
พระแสงตรีซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์  ตำนานเทวปางของพราหมณ์กล่าวว่า พรหมองค์หนึ่งจุติมาเป็นช้างชื่อ เอกทันต์ [เอก-กะ-ทัน] มีอิทธิฤทธิ์และกำลังมหาศาล ไม่เชื่อฟังโองการใด ๆ ของพระนารายณ์ พระองค์
จึงทรงนำเถาไม้ต่าง ๆ ๗ ชนิด มาร่ายมนตร์แล้วฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์ ทำให้ช้างเอกทันต์ปวดหัว
แทบจะแตก วิ่งเข้าต่อสู้กับพระองค์แต่สู้ไม่ได้ พระนารายณ์ทรงซัดเชือกบาศผูกมัดเท้าขวาของช้างเอกทันต์ ทรงนำพระแสงตรีอาวุธประจำพระองค์ปักลงพื้นดินแล้วอธิษฐานให้เป็นต้นมะตูม จากนั้นเอาปลายเชือกบาศผูกกับต้นมะตูม ช้างเอกทันต์จึงพ่ายแพ้
         พราหมณ์ถือว่าใบมะตูมเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและเป็นมงคล นำถวายพระมหากษัตริย์สำหรับ
ทรงใช้ในการพระราชทานน้ำสังข์ และพราหมณ์ใช้เมื่อถวายน้ำพระมหาสังข์แด่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธี
บรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]และพระราชพิธีอื่น ๆ

         อนึ่ง ใบมะตูมนี้บางตำราถือว่าเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระอิศวร และบางตำราถือว่าลักษณะสามแฉกนั้น
แทนพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์

พระเต้าเบญจคัพภ์
[พฺระ-เต้า-เบ็น-จะ-คับ]

           พระเต้าเบญจคัพภ์เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนตร์ [เทบ-พะ-มน]
ถวายพระมหากษัตริย์สรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใช้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในแต่ละปี

           พระเต้าเบญจคัพภ์มีหลายองค์ ทำด้วยศิลาสีต่าง ๆ พระเต้าเบญจคัพภ์องค์หนึ่งคือ พระเต้า
เบญจคัพภ์รัชกาลที่ ๔ ภายในแบ่งเป็น ๕ ห้อง ตรงกลางทำเป็นดอกไม้ ๕ กลีบทำด้วยทองคำ แต่ละกลีบประดับด้วยอัญมณีสีแดง เหลือง ขาว ดำ และเขียว อย่างที่เรียกว่า “เบญจรงค์” ใต้ดอกไม้มีก้านทองคำ
๕ ก้าน แต่ละก้านจารึกพระนามพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์คือ พระกกุสันโธ [พระ-กะ-กุ-สัน-โท]พระโกนาคม พระกัสสปะ พระโคดม และพระศรีอาริยเมตตรัย [พฺระ-สี-อา-ริ-ยะ-เมด-ไตฺร]เสียบลงในพระเต้าแต่ละห้อง

           พระเต้าเบญจคัพภ์ ๒ องค์ ได้แก่ พระเต้าเบญจคัพภ์รัชกาลที่ ๑ และพระเต้าเบญจคัพภ์โมราแดงรัชกาลที่ ๕ ภายในไม่แบ่งเป็นห้อง ๆ แต่มีแผ่นทองคำรูปกลม ๕ แผ่น จารึกพระนามพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ บรรจุอยู่ภายใน

           พระเต้าเบญจคัพภ์หลายองค์ ภายในไม่แบ่งเป็นห้อง และไม่มีแผ่นทองคำ เช่น พระเต้าเบญจคัพภ์
กลีบบัว พระเต้าเบญจคัพภ์โมราดำ

พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ (๑)

พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ เป็นเปลือกหอยสังข์นำมาขัดตกแต่ง มีสีขาวนวล และมีลักษณะพิเศษ
ที่ปากเปิดออกทางขวา อย่างที่เรียกว่า “ทักษิณาวัฏ”[ทัก-สิ-นา-วัด]ซึ่งต่างไปจากหอยสังข์ส่วนมาก
ที่ปากเปิดออกทางซ้าย เรียกว่า “อุตราวัฏ”[อุด-ตะ-รา-วัด] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนามพระมหาสังข์องค์นี้ว่า “พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ” ทรงใช้ครั้งแรกในงาน
พระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕
          พระมหาสังข์องค์นี้ เลี่ยมขอบปากด้วยทองคำอย่างกาบกล้วยไปจดปลายปาก ซึ่งหุ้มด้วยทองคำเป็นปลอกรัดสลักลายหน้ากระดานประกอบกระจัง ในร่องปลายปากสังข์แกะลายเส้นเบาเป็นรูป “อุณาโลม” ส่วนท้ายสังข์ตกแต่งด้วยปริกทองคำฝังอัญมณีอย่างหัวพระธำมรงค์นพเก้า ที่บนหลังสังข์ติดช่อดอกไม้
อย่างเทศทำด้วยทองคำประดับเพชรช่อใหญ่และช่อเล็กเรียงกันลงไปทางปลายปากสังข์และท้องสังข์
ใต้ปากสังข์ลงมาติดช่อดอกไม้อย่างเทศทำด้วยทองคำประดับเพชรขนานไปกับปากพระมหาสังข์

พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ (๒)

พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ เป็นพระมหาสังข์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงใช้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรงพระมุรธาภิเษกในงานพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ เป็นปฐม ต่อมาถือเป็นราชประเพณีที่เจ้าพนักงานภูษามาลาชั้นผู้ใหญ่จะเชิญพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสรงพระมุรธาภิเษกแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกรัชกาล
          ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏหลั่งน้ำพระพุทธมนต์พระราชทานพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ทรงใช้สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ ทรงหลั่งน้ำพระราชทานพระยาช้างต้นในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ ทรงหลั่งน้ำที่โขนเรือหลวงในพระราชพิธีขึ้นระวางเรือพระที่นั่ง เรือรบหลวง
และทรงใช้หลั่งน้ำที่ยอดธงชัยเฉลิมพล พระราชทานประจำกองทหารรักษาพระองค์ทุกเหล่าทัพด้วย

ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์
[ฉะ-หฺลอง-พฺระ-อง-บอ-รม-มะ-ขัด-ติ-ยะ-ราด-ชะ-พู-สิ-ตา-พอน]

           ฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เป็นฉลองพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงใน
พระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]พระราชพิธีเสด็จเลียบพระนคร
พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน

           เดิมฉลองพระองค์สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ครั้งสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นออกนามแต่เพียงว่า “ฉลองพระองค์เครื่องต้นอย่างบรมราชาภิเษก”

           ถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปรากฏในหมายกำหนดการออกนาม
ฉลองพระองค์สำรับนี้เป็นครั้งแรกว่า “เครื่องพระราชภูษิตาภรณ์อย่างวันบรมราชาภิเษก” เมื่อเสด็จเลียบ
พระนคร และเปลี่ยนเป็นใช้ว่า “เครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์” [เคฺรื่อง-บอ-รม-มะ-ราด-ชะ-พู-สิ-ตา-พอน]
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐิน  ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
บรมนาถบพิตร [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด บอ-รม-มะ-นาด-
บอ-พิด]
  เมื่อทรงฉลองพระองค์สำรับนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกออกนามว่า “ฉลองพระองค์บรมขัตติย-
ราชภูษิตาภรณ์”

ฉลองพระองค์ครุย (๑)

           ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์มีมาแต่สมัยอยุธยา ทรงใช้สวมทับเป็นฉลองพระองค์ชั้นนอก
ใช้เส้นทอง เส้นเงิน ที่เรียกว่า ทองแล่ง เงินแล่ง ปักเป็นลวดลายบนผ้าโปร่ง ลวดลายที่ปักจะเป็นอย่างใดนั้น
ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

           ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาลไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ พบแต่เรียกตามวัสดุที่ใช้
ทำเป็นฉลองพระองค์ครุยและวัสดุที่ใช้ปัก เช่น สมัยรัตนโกสินทร์เรียกฉลองพระองค์ครุยของรัชกาลที่ ๑ ว่า
ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง ของรัชกาลที่ ๒ เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยพื้นแดงกรองทอง ของรัชกาลที่ ๓
เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง ของรัชกาลที่ ๖ เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยกรองทองริ้วปัตหล่า
[ปัด-ตะ-หฺล่า]ส่วนฉลองพระองค์ครุยของรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ เรียกเพียงฉลองพระองค์ครุยเท่านั้น
ในแต่ละรัชกาลทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยหลายองค์ มิได้ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยเพียงองค์เดียว

ฉลองพระองค์ครุย (๒)

        ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์นั้น แต่เดิมไม่ทราบว่าลวดลายเป็นอย่างไร จนเมื่อมี
การถ่ายภาพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์
ขณะทรงฉลองพระองค์ครุยไว้ แต่ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ยังคงเรียกตามวัสดุและลวดลายที่ปักลงบน
ฉลองพระองค์ครุย เช่น ฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสวมใน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ปักเป็นรูปเพชราวุธอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร [พฺระ-บาด-สม-เด็ด-
พฺระ-ปอ-ระ-มิน-ทฺระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด]
ฉลองพระองค์ครุยที่
ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับ
ฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
องค์หนึ่งแต่ลวดลายต่างกัน ต่อมาโปรดให้สร้างฉลองพระองค์ครุยขึ้นใหม่ ปักลวดลายเป็นรูปจักรกับตรี
อยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์ วัสดุที่ใช้ปักคือทองแล่ง

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

          พระที่นั่งไพศาลทักษิณสร้างต่อเนื่องกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน [จัก-กฺระ-พัด-
พิ-มาน]
ทางด้านเหนือ ยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ เมตร ตอนกลางองค์พระที่นั่งทำเป็นคูหาเปิดโล่ง
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี มีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และหางหงส์ เช่นเดียวกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน
อีกทั้งหน้าบันก็ประดับด้วยลายจำหลักเป็นรูปพระอินทร์ประทับเหนือวิมานปราสาทสามยอด ล้อมด้วยลาย
กระหนกก้านขดหัวนาค
พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
[อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] และพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] ส่วนสำคัญของพระราชพิธี
บรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก]กระทำภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้นว่าการรับการถวาย
น้ำอภิเษก การถวายสิริราชสมบัติ การถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-สิ-หฺริ-ราด-ชะ-กะ-กุด-ทะ-พัน]
เครื่องบรมราชูปโภค [เคฺรื่อง-บอ-รม-มะ-รา-ชู-ปะ-โพก] พระแสง และพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร
[พฺระ-นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด]

อุทุมพร

           คำว่า อุทุมพร มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต อุทุมพร[อุ-ทุม-พะ-ระ]ซึ่งแปลว่าไม้มะเดื่อ ตำนาน
ทางฝ่ายฮินดูกล่าวว่า ไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพตรีมูรติ ซึ่งหมายถึง พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ
ไทยเราใช้ไม้มะเดื่อทำแท่นที่ประทับในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-พิ-เสก] มาตั้งแต่สมัย
อยุธยา ดังคำให้การชาวกรุงเก่ามีว่า “...พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้นมาทำตั่งสำหรับ
ประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก เป็นต้น”
  นอกจากนั้น ในคำอธิบาย
เรื่องพระศุนหเศป [พฺระ-สุน-หะ-เสบ]พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า
“ผลอุทุมพรถือว่าเป็นผลไม้สำคัญ เพราะตัวต้นไม้เป็นที่นับถือ เป็นของสำหรับกันกับกษัตริย์ นอกจาก
ตั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] ยังมีของอื่น ๆ ที่ทำด้วยไม้อุทุมพรเป็นเครื่องใช้ในงานราชาภิเษก คือ กระบวย
ที่ใช้ตักน้ำมันเจิมถวาย ก็ทำด้วยไม้อุทุมพร และในโบราณกาล หม้อน้ำที่พวกกษัตริย์ใช้ถวายน้ำก็ทำด้วย
ไม้อุทุมพร”

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
[พฺระ-ที่-นั่ง-อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด]

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ทำด้วยไม้มะเดื่อ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับน้ำอภิเษก
ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยามีข้อความว่า “เสด็จขึ้นนั่งบนตั่งไม้มะเดื่อกว้างจตุรัสศอกคืบปูผ้าขาว
โรยแป้ง วางหญ้าคา ผ้าขาวปกบน ...มีตั่งน้อยกว้างศอกหนึ่ง ตั้งพระอัฐทิศ [พฺระ-อัด-ถะ-ทิด] ตั้งกลศ ตั้งสังข์
ทั้ง ๘ ทิศ”
ท่ามกลางพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ มีฉัตร ๗ ชั้น ดังพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี [เจ้า-พฺระ-ยา-ทิ-พา-กอ-ระ-วง-มะ-หา-โก-สา-ทิบ-บอ-ดี]มีข้อความว่า “เสด็จกลับมาสถิตเหนืออุทุมพรพระราชอาสน์ มีพระมหาเศวตฉัตร ๗ ชั้น ที่ตั่งอัฐทิศ [อัด-ถะ-ทิด] ล้อม...” ตั่งอัฐทิศที่ล้อมอยู่นี้ จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖ ให้รายละเอียดว่า
“พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ [อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด] มีพระบวรเศวตฉัตร [พฺระ-บอ-วอน-
สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด] อยู่ท่ามกลาง ... มีตั่งอัฐทิศล้อมทำด้วยไม้สีสุกหุ้มผ้าขาวปูผ้าขาว ตั้งเทวรูปอัฐทิศโพธิบาท
[เท-วะ-รูบ-อัด-ถะ-ทิด-โพ-ทิ-บาด] และเทวรูปนพเคราะห์ประจำทิศ ... พระที่นั่งอัฐทิศนี้ตั้งบนพระแท่นลา
รองตั่งอุทุมพรตามทิศ”

พระที่นั่งภัทรบิฐ
[พฺระ-ที่-นั่ง-พัด-ทฺระ-บิด]

          พระที่นั่งภัทรบิฐมีลักษณะคล้ายเก้าอี้ มีกงสำหรับเท้าแขน ด้านหลังมีพนักพิง พื้นพระที่นั่งบุด้วย
แผ่นทองแดงกะไหล่ทองเป็นเส้นลายกระหนก ตรงกลางเป็นรูปราชสีห์ ที่ขอบและส่วนขาเป็นลายถมทอง
มีฐานเขียงไม้สลักลายปิดทองประดับกระจกรองรับ สองข้างพระที่นั่งมีโต๊ะเคียงสลักลายปิดทองประดับกระจก
ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๘ พระที่นั่งภัทรบิฐกางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตร [พฺระ-บอ-วอน-สะ-เหฺวด-
ตะ-ฉัด]
ซึ่งเป็นฉัตร ๗ ชั้น  ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ให้เปลี่ยนเป็นพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร [พฺระ-นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด] ซึ่งเป็นฉัตร ๙ ชั้น 
          ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์
[อัด-ถะ-ทิด-อุ-ทุม-พอน-ราด-ชะ-อาด]ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และราชบัณฑิต ทรงรับพระนพปฎล
มหาเศวตฉัตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งประดิษฐานในพระที่นั่งไพศาล
ทักษิณ ตรงข้ามกับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสุพรรณบัฏ
พระปรมาภิไธย [พฺระ-สุ-พัน-นะ-บัด-พฺระ-ปอ-ระ-มา-พิ-ไท]เครื่องราชกกุธภัณฑ์ [เคฺรื่อง-ราด-ชะ-กะ-กุด-
ทะ-พัน]
เครื่องราชูปโภค และพระแสง

หญ้าคา

หญ้าคานั้นชาวฮินดูถือว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์ ทำสถานที่ให้บริสุทธิ์ได้ ดังภาคผนวกนิยายเบงคลี
[เบ็ง-คะ-ลี]ของเสฐียรโกเศศมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ก่อนจะทำพิธี สถานที่ทำการต้องทำให้บริสุทธิ์ หน้าที่นี้
มักตกเป็นภาระของพวกผู้หญิง ของใช้มีมูลโคและหญ้าคาเป็นสิ่งสำคัญ”
หญ้าคาเข้ามาเกี่ยวข้องกับพิธีต่าง ๆ
ของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการวางหญ้าคาบนพระภัทรบิฐ
[พฺระ-พัด-ทฺระ-บิด]และใช้หญ้าคาถักรวมกับด้ายสายสิญจน์วงรอบพระบรมมหาราชวัง ดังตำราราชาภิเษก
ครั้งกรุงศรีอยุธยามีว่า “แล้วจึงเสด็จขึ้นบนพระภัทรบิฐ [พฺระ-พัด-ทฺระ-บิด] มีผ้าขาวปูแล้วโรยแป้งวาง
หญ้าคา แล้วปูแผ่นทองที่เขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหอรคุณ [หอ-ระ-คุน] ปกบนผ้าขาว”
และตำราราชาภิเษก
ในกรุงรัตนโกสินทร์มีว่า “เกี่ยวหญ้าคาถักเป็นสายสิญจน์กับด้ายสายสิญจน์ประสมกัน วงสายสิญจน์โยงทั่วไป
ทุกแห่งรอบพระบรมมหาราชวัง”

พระแท่นมณฑล

          พระแท่นมณฑลตั้งอยู่ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก [บอ-รม-มะ-รา-ชา-
พิ-เสก]
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ่งของที่ตั้ง ณ พระแท่นมณฑลมีถึง ๘๕ องค์ สมเด็จ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจำแนกไว้ในหมวดต่าง ๆ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ
อยู่ในหมวดพระเจ้า พระสุพรรณบัฏ และพระราชลัญจกรอยู่ในหมวดพระราชสิริ ครอบพระกริ่งและ
พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ อยู่ในหมวดเครื่องพระมุรธาภิเษก พระมหามงกุฎและพระแสงขรรค์ชัยศรี
[พฺระ-แสง-ขัน-ไช-สี]อยู่ในหมวดเครื่องต้น พระมาลาเบี่ยงและฉลองพระองค์เกราะเหล็กอยู่ในหมวด
เครื่องพระพิชัยสงคราม พระแสงดาบเชลยและพระแสงดาบคาบค่ายอยู่ในหมวดพระแสง พระเสมาธิปัตย์
พระฉัตรชัย และพระเกาวพ่าห์อยู่ในหมวดเครื่องสูง พานพระขันหมากและพระสุพรรณศรีบัวแฉกอยู่ใน
หมวดเครื่องราชูปโภค
          ในรัชกาลต่อ ๆ มา สิ่งที่ตั้งบนพระแท่นมณฑลได้เพิ่มและลดลงบ้าง เช่น ในรัชกาลที่ ๙ ตั้งพระแสงเพิ่มจากพระแสงที่ตั้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ ถึง ๑๒ องค์

พระชัยวัฒน์
[พฺระ-ไช-ยะ-วัด]

           พระชัยวัฒน์ เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เดิมเรียกว่า พระไชย[พฺระ-ไช]
ดังพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ [สม-เด็ด-พฺระ-พน-นะ-รัด]วัดพระเชตุพน [วัด-พฺระ-เชด-ตุ-พน]
มีข้อความว่า “พระโหราราชครูธิบดีศรีพิชาจารย์ [พฺระ-โห-รา-ราด-ชะ-คฺรู-ทิบ-บอ-ดี-สี-พิ-ชา-จาน] ก็ลั่นฆ้องไชย
ให้คลายเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์อันทรงพระพุทธปติมากร [พฺระ-พุด-ทะ-ปะ-ติ-มา-กอน] ทองนพคุณ บันจุะ
พระสาริกะบรมธาตุ [บัน-จุ-พฺระ-สา-ริก-กะ-บอ-รม-มะ-ทาด] ถวายพระนามสมยาพระไชยนั้นไปก่อน แล้วเรือขบวรหน้าทั้งปวงไปโดยลำดับ”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเติมสร้อยว่า พระไชยวัฒน์
คำว่า “ไชย” แต่เดิมใช้ไม้มลาย ภายหลังแก้เป็นใช้ไม้หันอากาศ 
           พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลมีพุทธลักษณะและขนาดต่างกัน แต่ทุกองค์ถือตาลปัตร และส่วนมากบรรจุ
พระบรมสารีริกธาตุ  เมื่อมีพระราชพิธีเกี่ยวกับรัชกาลใด ก็อัญเชิญพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลนั้นมาเข้าพิธีด้วย 
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญตั้งพระชัยวัฒน์ทุกรัชกาลบนพระแท่นมณฑลในพระที่นั่ง
ไพศาลทักษิณ

คณะกรรมการเฉพาะกิจจัดทำคำอธิบายราชาศัพท์เพื่อเผยแพร่
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

(ต่อตอนที่ ๔)

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ