ต่างประเทศ

นายกฯสิงคโปร์เตือน ปชช.เตรียมรับมือ ‘แรงกระแทก’ จากภาษีเขย่าโลกระดับแผ่นดินไหวของสหรัฐฯ

โดย petchpawee_k

5 เม.ย. 2568

493 views

นายกรัฐมนตรีลอว์เรนซ์ หว่อง ของสิงคโปร์ประกาศเตือนประชาชนผ่านคลิปวิดีโอบนยูทูปเมื่อวานนี้ว่า โลกกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ความสงบและเสถียรภาพที่เคยมีจะไม่กลับคืนมาในเร็ววันนี้ และสิงคโปร์ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับ "แรงกระแทก" ที่อาจจะตามมาอีกหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯประกาศใช้มาตรการภาษีแบบตอบโต้กับหลายประเทศทั่วโลก

คำเตือนที่แข็งกร้าวนี้มีขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหญ่กับคู่ค้าเกือบทั้งหมดเมื่อวันพุธที่ผ่านมาซึ่งจุดชนวนการตอบโต้จากหลายประเทศทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีหว่องชี้ว่าการกระทำของสหรัฐฯ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบการค้าโลก และทำให้ยุคของโลกาภิวัตน์ที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์และการค้าเสรีสิ้นสุดลง โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคที่มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจมากขึ้น มีการกัดกันทางการค้ามากขึ้น และมีอัตรายมากขึ้น

เขายังย้ำว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ทำไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการละทิ้งระบบทั้งหมดที่ตนเองเคยสร้างมา โดยเฉพาะระบบองค์การการค้าโลก (WTO) ที่สหรัฐฯ เคยเป็นหัวหอกสำคัญในการก่อตั้งนานหลายทศวรรษ ซึ่งนำมาซึ่งเสถียรภาพและความมั่งคั่งแก่โลกและสหรัฐฯ เอง การใช้ภาษีตอบโต้แบบรายประเทศถือเป็นการปฏิเสธกรอบ WTO อย่างสิ้นเชิง-แม้ว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สิงคโปร์จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำสุดคือ 10% และผลกระทบโดยตรงอาจยังจำกัด แต่นายกฯ หว่อง เตือนถึงผลกระทบที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่านั้น หากประเทศอื่นๆ เดินตามรอยสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่หลวง โดยเฉพาะกับประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์ที่ "เสี่ยงจะถูกบีบคั้น ถูกทำให้เป็นชายขอบ และถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"


เขากล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันที่สถาบันระดับโลกอ่อนแอลง และบรรทัดฐานสากลถูกกัดกร่อน กำลังผลักดันให้ประเทศต่างๆ หันไปยึดผลประโยชน์ส่วนตนที่คับแคบ และใช้กำลังหรือแรงกดดันเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ-นายกสิงคโปร์ยังเตือนว่าสถานการณ์ขณะนี้ ทำให้ "ความเป็นไปได้ของสงครามการค้าโลกเต็มรูปแบบกำลังเพิ่มสูงขึ้น"

ซึ่งเขาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในยุค 1930 ที่สงครามการค้าลุกลามกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ นายกฯ หว่องได้เรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์เตรียมพร้อมและไม่นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

มาตรการภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ต่อชาติอาเซียน 1. กัมพูชา 49%2. ลาว 48% 3. เวียดนาม 46% 4. เมียนมา 44%5. ไทย 36% 6. อินโดนีเซีย 32% 7. บรูไน 24%8. มาเลเซีย 24%9. ฟิลิปปินส์ 17%10. สิงคโปร์ 10%








คุณอาจสนใจ

Related News