ต่างประเทศ
จีนโต้กลับ! ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 34% พร้อมควบคุมส่งออก 7 แร่ธาตุหายาก
โดย petchpawee_k
5 เม.ย. 2568
68 views
สงครามการค้ากำลังร้อนระอุ หลังจากเมื่อวานนี้จีนประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกา 34% พร้อมทั้งควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายากที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและขึ้นบัญชีดำบริษัทอเมริกันหลายแห่ง
จุดหนึ่งที่น่าจับตามองคือการประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายาก 7 ชนิดสำคัญ ได้แก่ แซมาเรียม, แกโดลิเนียม, เทอร์เบียม, ดิสโพรเซียม, ลูทีเชียม, สแกนเดียม และอิตเทรียม ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อวานนี้ (4 เมษายน 68) โดยพุ่งเป้าการควบคุมไปที่การส่งออกสู่สหรัฐอเมริกา
แร่ธาตุเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการผลิตชิปคอมพิวเตอร์, แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เช่น เครื่อง MRI ที่ใช้แกโดลิเนียม) ไปจนถึงอุตสาหกรรมอวกาศและการป้องกันประเทศ (ที่ใช้แซมาเรียม) การคุมเข้มการส่งออกครั้งนี้จึงถือเป็นการใช้ "ไพ่ตาย" ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานและภาคอุตสาหกรรมสำคัญของสหรัฐฯ เพราะจีนเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุหายากประมาณ 90% ของโลก
นอกจากการควบคุมแร่ธาตุหายากแล้ว กระทรวงการคลังจีนยังประกาศว่าจะเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 34% โดยจะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 10 เมษายนนี้
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ยังได้ประกาศควบคุมสินค้าจากบริษัทสหรัฐฯ 16 แห่ง และเพิ่ม 11 บริษัทเข้าไปใน “รายชื่อบริษัทที่ไม่น่าเชื่อถือ (Unreliable Entity List)” ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อจำกัดทางการค้าและการลงทุน
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ศุลกากรจีนยังระงับการนำเข้าเนื้อไก่จากบริษัทสหรัฐฯ 2 แห่ง Mountaire Farms of Delaware (เมาน์แทร์ ฟาร์ม ออฟ เดลาแวร์) และ Coastal Processing (โคสทอล โพรเซสซิ่ง) โดยอ้างเหตุผลการตรวจพบสาร "ฟูราโซลิโดน" ซึ่งเป็นยาต้องห้ามในจีน
ทางการจีนให้เหตุผลของการดำเนินมาตรการเหล่านี้ว่า เป็นไปเพื่อ "ปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศ" รวมถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น การไม่แพร่กระจายอาวุธ
มาตรการตอบโต้ของจีนมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีแบบตอบโต้กับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยจีนถูกตั้งภาษีในอัตรา 34% ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการเรียกเก็บภาษีที่สหรัฐบังคับใช้กับจีนอยู่แล้ว จะทำให้จีนต้องเผชิญกับอัตราภาษีรวมจากสหรัฐสูงถึง 54%
กระทรวงการคลังของจีนได้วิจารณ์มาตรการดังกล่าวของสหรัฐว่าไม่สอดคล้องกับกฎการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้บ่อนทำลายอย่างรุนแรงต่อผลประโยชน์ของจีน รวมทั้งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและการผลิต พร้อมกับเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติมาตรการเรียกเก็บภาษีแต่เพียงฝ่ายเดียวทันที และทำการแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าผ่านทางการหารือในลักษณะที่เท่าเทียมและให้ความเคารพเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
นอกจากการเรียกร้อง กระทรวงพาณิชย์จีนยังได้ดำเนินการยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ด้วย โดยให้เหตุผลว่า “ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้” ของสหรัฐฯ นั้นเป็นการละเมิดกฎของ WTO อย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิและผลกระโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของสมาชิก WTO นอกจากนี้ ก็ยังเป็นการบั่นทอนระบบการค้าพหุภาคี รวมถึงระเบียบการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ทางกระทรวงพาณิชย์ของจีนยังบอกว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็นการกลั่นแกล้งเพียงฝ่ายเดียวที่เป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของระเบียบการค้าและเศรษฐกิจของโลก
ขณะที่ ตอนนี้ หลายประเทศก็กำลังพยายามหาทางที่จะเข้าไปเจรจากับสหรัฐอเมริกา แต่กระนั้น บางประเทศก็ออกมาตรการตอบโต้และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการภาษีของทรัมป์ เช่น แคนาดา นายกรัฐมนตรีมาร์ก คาร์นีย์ กล่าวว่าแคนาดาจะเรียกเก็บภาษีรถยนต์จากสหรัฐฯ 25%
ไต้หวัน นายกรัฐมนตรีโช จุงไท่ (Cho Jung-tai) ประกาศว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 93,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับสเปน รัฐบาลประกาศว่าได้จัดสรรงบประมาณ 14,100 ล้านยูโน (ราว 530,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ รับมือผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ การตอบโต้ของจีนก็ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนัก ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันเมื่อวานนี้ (4 เม.ย.) และเข้าสู่ภาวะปรับฐาน ขณะที่ดัชนี Nasdaq ได้เข้าสู่ภาวะตลาดหมี (bear market) แล้ว
มาตรการภาษีของทรัมป์ทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และแรงเทขายหุ้นทำให้มูลค่าของบริษัทสหรัฐฯ หายไปหลายล้านล้านดอลลาร์
เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกหลังการประกาศภาษีของทรัมป์ โดยเตือนว่าภาษีที่เพิ่มขึ้นมากเกินคาดอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลง ซึ่งจะเป็นความท้าทายต่อการตัดสินใจของเฟดในอนาคต
แท็กที่เกี่ยวข้อง