ต่างประเทศ

ผู้ค้าปลาตลาดปักกิ่งช็อก จีนสั่งแบนอาหารทะเลจากญี่ปุ่น - อย.ถก กรมประมง สั่งตรวจเข้มเพิ่ม 2 เท่า

โดย weerawit_c

27 ส.ค. 2566

210 views

กรมศุลกากรของจีน ได้ออกแถลงการณ์ว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางอาหาร จากการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคชาวจีน ทำให้จีนระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม เป็นต้นไป


มาตรการดังกล่าวตามหลังมาจาก Tepco ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เริ่มปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกถึง 1.3 ล้านตัน เมื่อตอนบ่ายของวันนี้ (24 สิงหาคม)


สำหรับน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมาจากการนำน้ำเข้าไปหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในปี 2011 ซึ่งพื้นที่ในการจัดเก็บน้ำเสียดังกล่าวลดลงเรื่อยๆ ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจต้องทิ้งน้ำเสียดังกล่าว แม้ว่าจะมีการบำบัดน้ำเสียเพื่อขจัดสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่แล้วก็ตาม และมีการเจือจางด้วยน้ำทะเลอีกรอบ


การปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นครั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยืนยันถึงความปลอดภัย รวมถึง UN ก็ออกมาไฟเขียวในเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าน้ำเสียปริมาณทั้งหมดจะต้องใช้เวลาปล่อยลงสู่ทะเลยาวนานถึง 30 ปีด้วยกัน


ขณะที่ผู้ค้าปลาในตลาดกรุงปักกิ่ง หลังจากทางการจีนประกาศสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด


ด้านมาเลเซีย เป็นอีกชาติที่ประกาศจะตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด โดยกระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียระบุว่า จะบังคับใช้มาตรการตรวจสอบระดับ 4 (เฝ้าระวัง) ที่จุดนำเข้าของประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเสี่ยงสูงจากญี่ปุ่น เพื่อการวิเคราะห์ปริมาณสารกัมมันตภาพรังสี


ทั้งนี้ วานนี้ (26 ส.ค.) ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ภายหลังมีการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิจิ ลงสู่ทะเลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม โดยระบุว่า ได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือไอเออีเอแล้วว่า อันที่จริงไม่ใช่ว่าเราจะมามีมาตรการป้องกันจากที่เพิ่งมีรายงานว่ามีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ


แต่ความจริงแล้ว นับตั้งแต่ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ระเบิดหลังจากโดนสึนามิเมื่อหลายปีก่อน ทาง อย.ก็ได้ร่วมกับกรมประมง ซึ่งดูแลเกี่ยวกับสัตว์น้ำ ได้เก็บตัวอย่างอาหารทะเลที่ถูกส่งมาจากพื้นที่นั้นต่อเนื่อง เพื่อส่งไปตรวจที่สำนักงานปรมาณู สำนักงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราะเราถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ไม่ได้อยู่ในน้ำลึกมาก จากการตรวจสอบนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันไม่พบว่ามีกัมตรังสีที่เกินจากที่กฎหมายกำหนดเลย นี่คือสิ่งที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง


รายงานว่าบางประเทศห้ามนำเข้านั้น ก็อยู่ที่บริบทที่ไม่เหมือนกัน แต่เราบอกแล้วว่าหากเป็นสินค้าที่มาจากเรดโซนเราดักจับทุกกรณี โดยเก็บตัวอย่างตั้งแต่หน้าด่าน แล้วนำตัวอย่างส่งไปยังสำนักงานปรมาณูฯ ส่วนสินค้าที่เหลือก็จะถูกกักเอาไว้ ถ้าตรวจแล้วไม่มีอันตรายก็ปล่อยออกมา ถ้าเจออะไรที่เป็นอันตรายสินค้าเหล่านี้จะถูกทำลาย ดังนั้นไม่มีโอกาสที่จะรั่วไหลเข้ามาทำให้ประชาชนเป็นอันตรายได้ นี่คือสิ่งที่เราดำเนินการกันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปประกาศว่าห้ามนำเข้า


อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนเราจะมีการเก็บตัวอย่างอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยคิดว่าให้เหมือนเป็นเหตุฉุกเฉินเลย ซึ่งทุกฝ่ายก็ยินดีที่จะดำเนินการทั้งหมดอย่างเข้มข้น สินค้าอาหารทะเลล็อตแรกจากญี่ปุ่นที่จะถูกส่งมายังประเทศไทยหลังจากมีการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฯนั้นพูดยาก แต่คาดว่าน่าจะราวๆ กลางเดือนกันยายนนี้ แต่บางส่วนที่มาเร็วทางเครื่องบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมินั้นก็จะมีด่านอาหารและยา ด่านประมงดักไว้อยู่แล้ว อาหารที่มาจากเรดโซนเราดักจับทุกกรณี และขอยืนยันว่าถึงจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ เปลี่ยนผ่านปีงบประมาณใหม่ แต่ไม่กระทบกับแผนการดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังอาหารนำเข้าของไทยแน่นอน



รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/aijw2Rk_OzM

คุณอาจสนใจ

Related News