ต่างประเทศ

โลกร้อนทำพิษ กระทบ “ธารน้ำแข็ง” ทั่วโลก ในรอบ 3 ปีละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดย paranee_s

21 มี.ค. 2568

188 views

ยูเนสโก (UNESCO) เปิดเผยรายงานสุดช็อกว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายเร็วขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สูญเสียมวลน้ำแข็งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบอันรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


โดยไมเคิล เซมป์ ผู้อำนวยการหน่วยบริการตรวจสอบธารน้ำแข็งโลก (World Glacier Monitoring Service) เตือนว่า นับตั้งแต่ปี 2518 โลกได้สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วถึง 9,000 กิกะตัน ซึ่งเทียบเท่ากับก้อนน้ำแข็งขนาดมหึมาหนา 25 เมตร และใหญ่เท่าประเทศเยอรมนี และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ 5 ใน 6 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการสูญเสียมวลน้ำแข็งสูงที่สุด โดยในปี 2567 เพียงปีเดียว สูญเสียไปถึง 450 กิกะตัน


ขณะเดียวกัน รายงานฉบับนี้ชี้ว่าการละลายของธารน้ำแข็งบนภูเขาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนนับล้านทั่วโลกเสี่ยงต่อน้ำท่วมครั้งใหญ่ และทำลายเส้นทางน้ำสำคัญที่ผู้คนพึ่งพาในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและการเกษตร


โดยระหว่างปี 2543-2566 ธารน้ำแข็งที่ละลายไปแล้ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 18 มิลลิเมตร หรือประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งทุกๆ 1 มิลลิเมตร จะทำให้ผู้คนถึง 3 แสนคนต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วม!


ด้านนายสเตฟาน อูห์เลนบรูก ผู้อำนวยการด้านน้ำและธารน้ำแข็งแห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยข้อมูลที่น่ากังวลว่า ปัจจุบันทั่วโลกเหลือธารน้ำแข็งอยู่ประมาณ 270,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของน้ำจืดทั่วโลกเท่านั้น


ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้การสูญเสียธารน้ำแข็งเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ตั้งแต่ขั้วโลกเหนือไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ และจากอเมริกาใต้ไปจนถึงที่ราบสูงทิเบต


นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังจะทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรงในพื้นที่ที่ต้องพึ่งพาน้ำจากหิมะละลาย รวมถึงเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของภัยพิบัติ เช่น หิมะถล่ม ดินถล่ม น้ำท่วม และน้ำท่วมฉับพลันจากทะเลสาบธารน้ำแข็ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ