สายการบินต่าง ๆ ที่บินผ่านน่านฟ้าของอ่าวเม็กซิโกต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินวุ่น หลังจรวดของบริษัทสเปซเอ็กซ์ของนายอีลอน มัสก์ ระเบิดกลางอากาศเพียงไม่กี่นาทีหลังถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดในเท็กซัส
รายงานระบุว่าศูนย์ควบคุมภารกิจของบริษัทสเปซเอ็กซ์ขาดการติดต่อกับจรวดสตาร์ชิป (Starship) รุ่นใหม่ที่บรรทุกดาวเทียมจำลองเพื่อใช้ในการทดสอบครั้งแรกเพียง 8 นาที หลังจรวดถูกปล่อยออกจากฐานปล่อยจรวดในโบกาชิกา (Boca Chica) ทางตอนใต้ของเท็กซัสเมื่อเวลา 17.38 น. วานนี้ (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ 04.38 น. วันนี้ (ตามเวลาในไทย) อย่างไรก็ดี จรวดดังกล่าวไม่มีลูกเรือขึ้นไปด้วย
หลังการระเบิดมีเศษซากของจรวดตกลงมายังพื้นโลกทำให้เกิดลูกไฟสีส้มพุ่งผ่านน่านฟ้าของประเทศต่าง ๆ สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น กรุงปอร์โตแปรงซ์ ของประเทศเฮติ รวมถึงหมู่เกาะเติกส์และหมู่เกาะเคคอส ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรในทะเลแคริบเบียน
นายแดน ฮูท (Dan Hout) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารของสเปซเอ็กซ์ได้ออกมายืนยันว่าพวกเขาสูญเสียการติดต่อกับจรวด และนั่นเป็นสัญญาบ่งชี้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สายการบินพาณิชย์ต่าง ๆ ที่ต้องบินผ่านอ่าวเม็กซิโกต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากเศษซากของจรวดที่ตกลงมายังพื้นโลก ขณะเดียวกันเที่ยวบินที่จะออกเดินทางจากสนามบินในเมืองไมอามีและฟอร์ตลอเดอร์เดลรัฐฟลอริดา ก็ล่าช้าออกไปประมาณ 45 นาที
องค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ FAA ออกมาประกาศว่าได้มีการชะลอการทำการบินและเปลี่ยนเส้นทางของเครื่องบินไปยังพื้นที่รอบ ๆ ที่เศษซากจรวดตกลงมา แต่ตอนนี้ กลับมาให้บริการตามปกติแล้ว
ด้านนายอีลอน มัสก์ ได้เขียนข้อความติดตลกลงบนเอ็กซ์พร้อมกับคลิปวิดีโอขณะเศษซากของจรวดตกลงมาบนพื้นโลกว่า “ความสำเร็จนั้นอาจไม่แน่นอน แต่รับประกันความบันเทิงได้อย่างแน่นอน” และว่าตอนนี้ จรวดรุ่นใหม่พร้อมถูกปล่อยแล้ว
มัสก์ ยังบอกว่าจากการตรวจสอบพบว่าการระเบิดเกิดขึ้นจากการรั่วไหลของเชื้อเพลิงออกซิเจนเหลวที่ทำให้เกิดแรงดันขึ้นเกินความจุของช่องระบายอากาศ อย่างไรก็ตาม มัสก์ย้ำว่ายังไม่มีประกาศเลื่อนการทดสอบปล่อยจรวดในครั้งถัดไป ที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า
ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังบริษัทบลูออริจิน (Blue Origin) ของนายเจฟฟ์ เบซอส มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน (Amazon) ทำการปล่อยจรวดนิวเกลนน์ (New Glenn) ขนาดใหญ่ขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
สำหรับจรวดที่เกิดระเบิดครั้งนี้เป็นจรวดสตาร์ชิปรุ่นใหม่ที่มีขนาดสูงกว่ารุ่นก่อนหน้า 2 เมตร เดิมทีจรวดลำนี้ถูกกำหนดให้ลงจอดแบบมีการควบคุมในมหาสมุทรอินเดียประมาณ 1 ชั่วโมงหลังปล่อยตัวออกจากเท็กซัส
อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ ยังไม่ทราบว่าเศษซากของจรวดตกลงที่ใด แต่มีแนวโน้มว่าทาง FAA จะดำเนินการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งจะทำให้การปล่อยจรวดสตาร์ชิปครั้งถัดไปถูกระงับ และจะมีการตรวจสอบว่าเศษซากจากการระเบิดของจรวดนั้นตกลงในพื้นที่ที่ประชากรอาศัยอยู่หรือตกนอกเขตอันตรายที่กำหนดไว้หรือไม่
ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นการทดสอบจรวดสตาร์ชิปครั้งที่ 7 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์นับตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งเป็นความพยายามมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของมัสก์ในการสร้างจรวดเพื่อขนส่งมนุษย์และสินค้าไปยังดาวอังคาร รวมถึงส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลก