บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศหรือ G20 ตบเท้าเข้าร่วมการประชุมประจำปีที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันนี้ที่บราซิลอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มากรง” ของฝรั่งเศส ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีน ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐอเมริกาและอีกมากมาย คาดว่าการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือในหลายประเด็นตั้งแต่การค้าการลงทุน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงระหว่างประเทศ
ทางด้านการประชุม COP29 เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 แล้ว นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่ขององค์การสหประชาชาติออกมาแถลงเรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือ G20 เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะเรื่องสภาพอากาศหลังการประชุม COP29 ไม่คืบหน้า
ซึ่งระหว่างการแถลงข่าวที่นครริโอเดอจาเนโรของบราซิลเมื่อวานนี้ นายกูเตร์เรส ได้บอกกับนักข่าวว่า ปี 2024 กำลังจะเป็นปีที่มีสภาพอากาศร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ภายหลังการประชุม COP29 ที่กรุงบากู ของประเทศอาเซอร์ไบจาน
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ G20 มีขนาดเศรษฐกิจที่คิดเป็น 85% ของเศรษฐกิจโลกและเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีที่ช่วยกำหนดทิศทางทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ ขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายกูเตร์เรสสอดคล้องกับแถลงการณ์ของนายไซมอน สตีลล์ เลขาธิการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่ได้เรียกร้องให้ผู้นำกลุ่มประเทศ G20 เพิ่มบทบาทในการจัดหาเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมเรื่องเงินช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อส่งเสริมข้อตกลงของการประชุม COP29 ที่ต้องการเงินทุนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 34 ล้านล้านบาท) ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
คำร้องขอดังกล่าวของนายสตีลล์มีขึ้นในขณะที่ที่ประชุม COP29 กำลังดิ้นรนกันอย่างหนักเพื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าว โดยเขาบอกว่ากลุ่มประเทศ G20 ควรสนับสนุนการเพิ่มเงินช่วยเหลือและเงินกู้ รวมถึงการผ่อนปรนการชำระหนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศที่กำลังพัฒนาไม่ถูกขัดขวาง
ขณะเดียวกัน ทางด้านกลุ่มธุรกิจที่ประกอบไปด้วย We Mean Business Coalition, ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) หรือ UNGC และสภาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบราซิล (Brazilian Council for Sustainable Development) ก็ได้ออกแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ของกลุ่ม G20 ดำเนินนโยบายเพื่อเปลี่ยนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาด
ขณะที่ สำนักข่าวเอพีได้จัดทำสกู๊ปพิเศษสัมภาษณ์เยาวชนหลายคนที่เข้าร่วมการประชุม COP29 ซึ่งหลายคนต่างรู้สึกโกรธแค้นและไม่พอใจที่ประเทศต่าง ๆ ขาดความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
บางคนสูญเสียคนรักและได้เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพียง 6 เดือนเพราะพายุ บางคนเสียฟาร์มของครอบครัวไปจากฝนที่ตกหนัก อีกคนสูญสิ้นโอกาสที่จะเติบโตบนเกาะบ้านเกิดเนื่องจากริมชายฝั่งถูกกัดเซาะ
ฟรานซิสโก เบรา มันซานาเรส เยาวชนวัย 15 ปี จากประเทศโคลอมเบียที่เข้าร่วมการประชุม COP เป็นครั้งที่ 4 แล้วบอกว่า งานประชุมนี้เป็นงานที่สำคัญ แต่ก็ยากลำบากมากที่จะเข้าร่วม และว่าการเปลี่ยนแปลงที่ล่าช้าของประเทศต่าง ๆ ก่อให้เกิด “วิกฤตความน่าเชื่อถือ”
มาริเนล อูบัลโด เยาวชนหญิงวัย 16 ปี ที่ชุมชนบ้านเกิดของเธอในฟิลิปปินส์ถูกทำลายจากพายุไต้ฝุ่นถึง 2 ครั้งบอกว่าการมีเงินทุนช่วยเหลือประเทศที่เปราะบาง ดีกว่าการให้ปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบ