ต่างประเทศ

เกาหลีใต้พบผู้เสียชีวิตจาก ‘อะมีบากินสมอง’ หลังกลับจากไทย ‘กรมควบคุมโรค’ ยันไม่ติดต่อคนสู่คน

โดย petchpawee_k

28 ธ.ค. 2565

1K views

เกาหลีใต้พบผู้เสียชีวิตจาก “อะมีบากินสมอง” รายแรก มีประวัติเดินทางกลับจากไทย ด้าน กรมควบคุมโรค เปิดต้นตอ เกิดจากการสำลักน้ำปนเปื้อน เผย ไม่ติดต่อระหว่างคน


วานนี้ (วันที่ 27 ธ.ค.) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ หรือ KDCA ยืนยันว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เดินทางกลับจากประเทศไทย และติดเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ที่สามารถทำลายสมองของมนุษย์ได้ ชายคนดังกล่าว มีอายุ 50 ปี เดินทางกลับถึงเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม หลังจากพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลา 4 เดือน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในวันถัดมา (11 ธ.ค. 65) และเสียชีวิตในวันอังคาร (13 ธ.ค. 65)


ซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบารายแรกของประเทศ นับตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อคนแรกของโลก ที่รัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2480 ทั้งนี้ อะบีมาชนิดนีเกลอเรียมักพบทั่วไปในแหล่งน้ำจืด เช่น ทะเลสาบ, แม่น้ำ, คลอง, และ บ่อน้ำ ทั่วโลก ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อตัวนี้จะวิ่งไปยังสมอง และทำลายเนื้อเยื่อสมอง


อย่างไรก็ดี ทาง KDCA ยืนยันว่า ความเสี่ยงที่เชื้อตัวนี้จะแพร่ระบาดจากคนสู่คนต่ำมาก แต่แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในพื้นที่ที่พบโรคนี้แพร่ระบาด  ในปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าวอย่างน้อย 381 คนทั่วโลก เช่น สหรัฐ, อินเดีย, และไทย


ขณะที่นายเเพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว แสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอบคุณการเเจ้งข่าว จากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย จากรายงาน พบว่า โรคสมองอักเสบ มีอาการ 1-12 วัน หลังได้รับเชื้อเฉลี่ยประมาณ 5 วันที่เข้าทางจมูกและเชื้อเข้าสมอง ผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น อาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะค่อยๆ แย่ลง และเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม


โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ในช่วง 40 ปี (2526-2564) ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนั้น 14 คน (ร้อยละ 82) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน


วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri จากการสำลักน้ำ ได้แก่

1.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด

2.ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆทางจมูก

3.รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ

4.ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูกให้เเพทย์ทราบ เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย


 “ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก สระว่ายน้ำควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานตามคำแนะนำของ กรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร” นายเเพทย์ธเรศ กล่าว



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/mSiGjt8hEBc

คุณอาจสนใจ

Related News