ต่างประเทศ
วิจารณ์เดือด 'อีลอน มัสก์' แจกเงินวันละ 1 ล้านดอลลาร์ หวังดึงคะแนนให้ 'ทรัมป์'
โดย nattachat_c
22 ต.ค. 2567
140 views
'อีลอน มัสก์' อภิมหาเศรษฐี ที่กำลังช่วย 'โดนัลด์ ทรัมป์' รณรงค์หาเสียงอย่างแข็งขัน ประกาศจะแจกเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่ผู้ออกเสียงในรัฐสวิงสเตท 1 ราย ทุกวันไปจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง 5 พฤศจิกายน นี้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่
ทั้งนี้ มัสก์ ประกาศแจกเงิน 1 ล้านดอลลาร์แก่ผู้โชคดีวันละ 1 รายทุก ๆ วันไปจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง โดยที่ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินจะต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ลงทะเบียนไว้กับทางการแล้วว่าจะไปใช้สิทธิ์ อีกทั้งต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐสวิงสเตท ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่มีความแน่นอนว่า ผู้คนจะเลือกตั้งผู้สมัครจากพรรคใด ซึ่งมีความคู่คี่กันมาก ๆ อันได้แก่ รัฐเพนซิลเวเนีย, รัฐจอร์เจีย, รัฐเนวาดา, รัฐแอริโซนา, รัฐมิชิแกน, รัฐวิสคอนซิน, และรัฐนอร์ทแคโรไลนา
ผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัล ยังจะต้องเป็นผู้ที่ไปลงนามสนับสนุนคำร้องหนุนรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองของมัสก์ที่ใช้ชื่อว่า 'อเมริกาแพค' (AmericaPAC) จัดทำขึ้นมา ซึ่งกลุ่มอเมริกาแพคเอง ก็เป็นกลุ่มกิจกรรมที่มัสก์ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ทรัมป์ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งได้กลับมาครองทำเนียบขาวอีกสมัยหนึ่ง
ปรากฏว่า ผู้ได้รับรางวัลเป็นเช็คเงินสด 1 ล้านดอลลาร์คนแรก ซึ่งใช้วิธีเลือกสุ่มออกมาจากผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือหนึ่งในผู้เข้าฟังการปราศรัยหาเสียงในรัฐเพนซิลเวเนียเมื่อคืนวันเสาร์ และจากนั้นเช็คอีกใบแจก ให้ผู้โชคดีอีกคนในวันอาทิตย์
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนฟันธงว่า นี่เข้าข่ายผิดกฎหมาย กระนั้น ยุทธศาสตร์นี้อาจรอดพ้นจากความผิด โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเลือกตั้งของอเมริกา ด้วยการเลี่ยงบาลีว่าไม่มีการแจกเงินเพื่อให้ไปลงคะแนนโดยตรง ถึงแม้ในความเป็นจริงแล้ว มันยังอาจจะระบุได้ว่า เป็นการแจกเงินให้ผู้มีแนวโน้มโหวตให้ทรัมป์ก็ตาม
ริก ฮาเซน ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายการเลือกตั้ง ระบุว่า ข้อเสนอของมัสก์ 'ผิดอย่างแน่นอน' เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ใดก็ตามที่จ่ายหรือเสนอจ่ายเงิน หรือรับเงินสำหรับการลงทะเบียนเพื่อไปลงคะแนนหรือเพื่อลงคะแนน อาจมีโทษปรับ 10,000 ดอลลาร์ หรือจำคุก 5 ปี
ขณะนี้ ไมเคิล คัง ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายการเลือกตั้ง เห็นด้วยว่า การแจกเงินในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ทำให้ยากจะคิดเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากกระตุ้นให้คนไปโหวตซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์นี้อาจรอดพ้นจากความผิดโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเลือกตั้งของสหรัฐฯ เนื่องจากไม่มีใครได้รับเงินจากการลงคะแนนโดยตรง แม้การแจกเงินในกรณีนี้อาจระบุได้ว่า มอบให้ผู้มีแนวโน้มโหวตให้ทรัมป์ก็ตาม