ต่างประเทศ

'ยูเอ็น' ชี้ แก๊งอาชญากรรมอาเซียน ใช้เทเลแกรมเป็นตลาดใต้ดิน เพื่อซื้อข้อมูลประชาชน

โดย nattachat_c

9 ต.ค. 2567

165 views

สำนักงานปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า เครือข่ายอาชญากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทรงอิทธิพล ใช้แอปพลิชันเทเลแกรมอย่างแพร่หลาย เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายครั้งใหญ่

รายงาน ระบุว่า ข้อมูลที่ถูกแฮ็ก เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต รหัสผ่าน และประวัติการใช้เบราว์เซอร์ ถูกซื้อขายกันอย่างเปิดเผยบนแอปฯ ซึ่งมีช่องทางที่กว้างขวาง และแทบไม่มีการควบคุม

นอกจากนั้น เครื่องมือที่ใช้สำหรับอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า 'ดีปเฟค' (Deep Fake)  ซึ่งออกแบบมาเพื่อการฉ้อโกง และมัลแวร์ขโมยข้อมูล ก็ถูกซื้อขายกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน ขณะที่ เครือข่ายอาชญากรรมใช้การแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตเพื่อฟอกเงิน

ทั้งนี้ มีหลักฐานชัดเจนที่บ่งชี้ว่า ตลาดข้อมูลใต้ดินกำลังย้ายไปยังเทเลแกรม และผู้ขายพยายามหาทางกำหนดเป้าหมายกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นศูนย์กลางหลักของอุตสาหกรรมมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่มีเป้าหมายเป็นเหยื่อทั่วโลกด้วยแผนการฉ้อโกง ซึ่งทาง UNODC ระบุว่า องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นแก๊งชาวจีนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ปิดแน่นหนา ใช้คนทำงานที่ถูกล่อลวงมา มีเงินหมุนเวียนปีละ 27,400 - 36,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 915,900 ล้านบาท - 1.22 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ ดูรอฟ ผู้ก่อตั้งเทเลแกรม ถูกจับกุมในกรุงปารีสเมื่อเดือนสิงหาคม และถูกตั้งข้อหาอนุญาตให้มีกิจกรรมทางอาญาบนแพลตฟอร์ม รวมถึงการเผยแพร่ภาพอนาจารของเด็ก การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้ให้บริการแอปฯ  และยังจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจจะสิ้นสุดเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด

นอกจากนั้น ในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเอเชีย ตำรวจในเกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายของสื่อลามกอนาจารที่เผยแพร่โดยดีปเฟคมากที่สุด ได้เริ่มการสืบสวนเทเลแกรมว่า มีส่วนเอื้อต่อการก่ออาชญากรรมทางเพศทางออนไลน์หรือไม่  

คุณอาจสนใจ